HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 23/04/2556 ]
ครึ่งประเทศขาดจักษุแพทย์เด็กห่วงทารกเกิดก่อนกำหนดเสี่ยงตาบอด

หมอตาเด็กวิตกทารกเกิดก่อนกำหนดเสี่ยงตาบอด เหตุขาดแคลนจักษุแพทย์เด็ก เครื่องมือแพทย์ เผยทั่วประเทศปี 54 มีเพียง 33 คน 3 ใน 4 ทำงานกทม.-ปริมณฑล ต่างจังหวัดมีจักษุแพทย์เด็กประจำอยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เหลืออีกเกือบครึ่งหรืออาจเกินครึ่งไม่มีเลย อนามัยโลกเผยปี 55 เด็กไทยเกิดกว่า 8 แสนคน เกิดก่อนกำหนด 1 แสนคน คิดเป็น 12 % มีสิทธิเสี่ยงตาบอด
          พญ.พรรณทิพา ว่องไว จักษุแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดต้องได้รับการตรวจจอตาเพื่อดูแลรักษาทารกที่มีจอตาเจริญเติบโตผิดปกติประมาณ 4-6 ครั้ง แต่ที่ผ่านมามีทารกไม่ได้รับการตรวจครบตามจำนวนทำให้เกิดความผิดปกติทางสายตา เช่น ตาฝ้าฟางตาบอด เป็นต้น สาเหตุหลักเกิดจากเมื่อทารกกลับบ้านมารดาไม่พาทารกมาตามนัด เพราะปัญหาระยะทางและค่าใช้จ่าย ขาดแคลนจักษุแพทย์เด็กและเครื่องมือตรวจ จำนวนเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอเชื่อว่าหากมีเครื่อง Ret Cam เครื่องมือตรวจจอตาทารกเกิดก่อนกำหนดอยู่ในรถ Mobile Unit ที่มีจักษุแพทย์เด็กพร้อมเครื่องมือเข้าพื้นที่หาผู้ป่วยจะลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้
          รศ.นพ.ธราธิป โคละทัต กุมารเวชศาสตร์ชำนาญพิเศษทารกแรกเกิด โดรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ผู้จัดการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองศ์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็ดพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กล่าวว่า ข้อมูลจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยปี 2554 มีจักษุแพทย์ในประเทศทั้งหมด 1,080  คน แพทย์จอตา 180 คน จักษุแพทย์เด็ก 120 คน มีเพียง 300 คนเท่านั้นที่มีความสามารถด้านการดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีโรคจอตาเจริญเติบโตผิดปกติ ที่สำคัญประมาณ 3 ใน 4 ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในส่วนต่างจังหวัดมีจักษุแพทย์เด็กประจำอยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ เท่านั้น ส่วนจังหวัดที่เหลืออีกเกือบครึ่งหรืออาจเกินครึ่ง ไม่มีจักษุแพทย์เลย หมายความว่า หากมีทารกคลอดก่อนกำหนดจังหวัดที่ไม่มีจักษุแพทย์จะต้องส่งตัวมายังโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์
          ทั้งนี้ จากรายงานองค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า ประเทศไทยพบอัตราการคลอดทารกในกลุ่มอาเซียนปี 2555 จำนวน 838,300 คน คลอดก่อนกำหนด 100,700 คน คิดเป็นร้อยละ 12  สูงเป็นอันดับที่ 55 ของโลก และอันดับ 6 ในประเทศกลุ่มอาเซียน จากรายงานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯพบอัตราการคลอดก่อนกำหนดแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อยู่ระหว่างร้อยละ 5-15 เช่น ประจวบคีรีขันธ์ พบประมาณร้อยละ 4-5  อุดรธานี พบอัตราสูงมากร้อยละ 14-15
          รศ.นพ.ธราธิป กล่าวว่า หากมีการคิดค้นนวัตกรรมช่วยทำให้สตรีตั้งครรภ์มีความรู้และสามารถดูแลตนเอง ให้มาฝากท้องทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ได้รับการสอนเรื่องการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และควรเดินทางมาพบแพทย์ทันที่เมื่อมีอาการ จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้


pageview  1206109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved