HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 03/04/2556 ]
น่านวิกฤติหมอกป่วยทะลุ9หมื่นคน

  แม้สถานการณ์หมอกควันและค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 10 ที่ปกคลุมในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือจนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไม่ให้เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม) จะเริ่มเบาบางลงและหลายจังหวัดได้กลับเข้าสูสภาวะปกติแล้ว แต่ก็ยังมีชาวบ้านแอบลักลอบเผา เพื่อเตรียมพื้นที่ไร่ในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะบ้านผาเวียง ต.ส้าน อ.เวียงสา จ.น่าน ชาวบ้านได้เผาพื้นที่เพื่อเตรียมทำไร่ข้าวโพด จนลุกลามถึงริมถนนสา-นาน้อย
          นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีการเผาป่ากันมากจนทำให้มีหมอกควันไฟที่มีผลกระทบต่อผู้ปป่วยที่เป็นโรคอยู่เดิม โดยเฉพาะโรคหัวใจ ปอด หรือทางเดินหายใจและภูมิแพ้ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น และนอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปด้วย จึงแจ้งเตือนให้รักษาสุขภาพ หากอยู่ในพื้นที่โล่งให้สวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงออกกำลังกายกลางแจ้ง ผู้ป่วยและเด็กเล็กผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วนทันที และนอกจากมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยแล้ว หมอกควันไฟยังมีปัญหาต่อการคมนาคมในพื้นที่ด้วย เนื่องจากสภาพพื้นที่เส้นทางรถต้องผ่านป่าเขาขึ้นลงทางโค้งสูงชันทัศนวิสัยบริเวณที่มีหมอกควันไฟไม่เกิน 100 เมตร เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย
          นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-27 มีนาคม ที่ผ่านมา ของโรงพยาบาลจากจังหวัดน่าน โรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์ และโรงพยาบาลชุมชนรวมทั้งหมด 14 แห่ง พบมีผู้ป่วยด้วยโรคที่เฝ้าระวังจาก 4 กลุ่มโรค รวมทั้งสิ้น 89,990 รายมากสุดเป็นกลุ่มโรคทางเดินหายใจ มีผู้ป่วยสะสม 43,844 ราย กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผู้ป่วยสะสม 40,922 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ มีผู้ป่วยสะสม 2,536 ราย และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ มีผู้ป่วยสะสม 2,011 ราย
          ทั้งนี้ ข้อมูลของจ.น่าน พบว่า ที่ อ.เวียงสา มีการจุดไฟเผาป่าและเกิดไฟป่า จนทำให้เกิดหมอกควันในพื้นที่เพิ่มขึ้นรวม 244 ครั้ง เกิดในพื้นที่อุทยาน 24 ครั้ง ป่าสงวน 201 ครั้ง พื้นที่การเกษตร 19 ครั้ง ขณะที่ค่าพีเอ็ม 10 มีค่าระหว่าง 72-151 มคก./ลบ.ม.
          ที่ จ.เชียงใหม่ นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันนี้เริ่มคลี่คลายแล้ว เหลือเพียงบริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ที่ยังคงมีค่าพีเอ็ม 10 อยู่ในระดับ 123 มคก./ลบ.มซึ่งเกินไปไม่มากนัก และบริเวณศาลากลางจังหวัด วัดได้ 97 มคก./ลบ.ม. สาเหตุที่ทำให้ค่าฝุ่นลดลง เนื่องมีฝนตกลงมา ขณะที่สถิติแจ้งเหตุการณ์เผาสะสม ระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม เกิดไฟป่า 602 ครั้ง ในพื้นที่ 24 อำเภอ พื้นที่เสียหายประมาณ 5,968 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษื 404 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 4,636 ไร่ พื้นที่ป่าสงวนเกิด 193 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 1,275 ไร่ และ พื้นที่ข้างทาง ป่า อตก.ที่ราชพัสดุ อื่นๆ 5 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 57 ไร่ โดยที่ อ.เชียงดาว มีสถิติการเผาป่ามากที่สุด 92 ครั้ง รองลงมาคือ จ.จอมทอง 86 ครั้ง โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะหมอกควันและไฟป่า ในผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค สะสมระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์-30 มีนาคม ทั้งสิ้น 48,959 ราย
          ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม หน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สภาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาหมอกควันเป็นเวลากว่า 5 ปี พบว่า สาเหตุหลักของการเกิดปัญหามาจากการเผ่าป่ามากที่สุดรองลงมาคืนการเผาในพื้นที่การเกษตร เช่น การเผาตอซัง การเผาฟางข้าว และสุดท้ายคือการเผาในบ้านเรือน ทั้งการเผาขยะและการเผาเศษไม้ใบไม้ในบ้าน โดยการเผาดังกล่าวจะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งเมื่อเทียบกับเส้นผมพบว่าเล็กว่าถึง 40 เท่า และมีอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก เนื่องจากเข้าสู่ร่างกายได้ในระดับลึก เช่น ฝุ่นละอองขนาดน้อยกว่า 10 ไมครอน สามารถเข้าไปสะสมในขั้วปอดได้ และฝุ่นละอองขนาดน้อยกว่า 2.5 ไมครอนสามารถเข้าไปถึงถุงลม ทำให้ปอดเสียพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหอบ เพราะบนผิวของฝุ่นละอองขนาดเล็กจะอุดมไปด้วยสารพิษนานาชนิด ทั้งสารพีเอเอชและสารลีโวกลูโคแซน ซึ่งเป็นหนึ่งในสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง หากหายใจเอาฝุ่นที่มีสารพิษเกาะอยู่ด้วยเข้าไปก็ยิ่งมีอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น
          ดร.ทิพวรรณ กล่าวว่า ได้ทำโครงการวิจัยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหมอกควันพื้นที่ภาคเหนือตอนบนด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ควบคู่กันไป เพื่อให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ประชมชนสามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยโครงการวิจัยดังกล่าวสามารถสกัดสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในปัสสาวะของคนได้ จึงถูกนำมาใช้เป็นหัวใจสำคัญของการบ่งชี้ถึงผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน เพราะสามารถวัดถึงระดับของสารพิษที่ปนเปื้นในปัสสาวะได้อย่างชัดเจน และเมื่อนำข้อมูลจากการวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในชุมชนมาประกอบกันแล้ว สามารถชี้ให้เป็นถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพในอนาคตได้เด่นชัดมากขึ้น
          ขณะเดียวกันกระบวนการทางสังคมก็ได้มีการสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก คือ ค่านิยมไม่เผาป่า ไม่เผาในพื้นที่เกษตร และไม่เผาขยะตามบ้านเรือน ซึ่งนับว่า เป็นกระบวนการที่ยากมากในการโน้มน้ามและชี้ให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วิถีชีวิตที่ผูกพันกับการเผามาอย่างช้านาน และให้ความสำคัญกับการไม่เผา รวมทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะมีอากาศที่สะอาด ปราศจากควันพิษ
          อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ต้องใช้กระแสทางสังคม ค่านิยม และระยเวลา ในการที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชน ทั้งนี้ จะมีการสร้างกระแสทางสังคมใหม่ ผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญของการไม่เผาป่า โดยยึดหลักพื้นฐานทางสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันของคน ให้มีการสร้างค่านิยมใหม่ สร้างพลังมวลชนอันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ทางสังคมได้


pageview  1205890    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved