HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 01/04/2556 ]
จะอยู่กันอย่างไร? เมื่อ"เชียงใหม่"มีฤดูกาลที่สี่

 วิกฤติหมอกควันและมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม สาเหตุหลักเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากปัญหาไฟป่า การเผา เพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร และการเผาป่าเพื่อหาของป่า ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน
          ปฏิเสธไม่ได้ว่านับวันปัญหาหมอกควันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมที่ลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาค
          แม้ว่าปีนี้รัฐบาลจะออกกฎเหล็ก 100 วันห้ามเผา ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม-30 เมษายน เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันแต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทว่า "หมอกควัน" ที่เกิดขึ้นกลับรุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลายปีที่ผ่านมา
          จากข้อมูลสถิติของ จ.เชียงใหม่ มีการแจ้งเหตุเผาสะสมระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 23 มีนาคม พบว่าเกิดเหตุไฟป่าสะสมแล้วกว่า 453 ครั้ง ในพื้นที่ 23 อำเภอ มีพื้นที่เสียหายแล้วกว่า 5,251 ไร่ อ.เชียงดาว มีสถิติการเผาป่ามากที่สุด 71 ครั้ง รองลงมา คือ อ.แม่ออน 64 ครั้ง ส่วนจำนวนสถานการณ์พบจุดความร้อน (Hotspot) สะสมมีทั้งสิ้น 1,203 จุด ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ต่ำกว่า 10 ไมครอน หรือพีเอ็ม 10 เกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. โดยค่าพีเอ็ม 10  ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย วัดได้ถึง 220 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ขณะที่สภาพท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยหมอกควันนอกจากทำให้ทัศนวิสัยการมองเห็นลดลง ยังส่งให้ประชาชนมีอาการระคายเคืองตา แสบจมูก ฯลฯ
          เมื่อพิบัติภัยจาก "หมอกควัน" มีแนวโน้มจะหมุนเวียนมาสร้างความเดือดร้อนให้คนภาคเหนือเป็นประจำทุกปี หลายครอบครัวป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง คำถามคือ จากนี้ไปเราจะอยู่กันอย่างไร และมีวิธีรับมืออย่างอย่างไร
          รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาโรคระบบทางเดินหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลว่า สถิติผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ ระคายเคืองจมูก ฯลฯ และเข้ารับการรักษาในแผนกคนไข้นอก หรือโอพีดี ในปี 2556 โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 369 ราย และเดือนมีนาคม 506 ราย ส่วนผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอาการกำเริบ เช่น ผู้ป่วยโรคปอด เข้ารับการรักษาในเดือนกุมภาพันธ์ 104 คน และเดือนมีนาคม 125 คน
          อาจารย์หมอชัยวัฒน์ ยอมรับว่า มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สันนิษฐานได้ว่าปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีผลให้ประชาชนเกิดอาการเจ็บป่วย หรือมีอาการของโรคกำเริบเพิ่มขึ้น แต่ยังระบุชัดเจนไม่ได้ว่ามาจากสาเหตุของปัญหาหมอกควันทั้งหมดหรือไม่ เพราะในกรณีของประชาชนที่ไม่มีโรคประจำตัว แต่อาจมีอาการระคายเคืองตา แสบจมูก และไอ ส่วนใหญ่ไม่มาพบแพทย์ เพราะเห็นว่ามีอาการเล็กน้อย
          "จำนวนผู้ป่วยจากผลกระทบของหมอกควันไม่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างผิดสังเกต จนทำให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ทุกฝ่ายควรตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดูแลตัวเอง หากอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่ปกคลุมด้วยหมอกควัน เช่น ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย งดเว้นออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง แต่เท่าที่เห็นยังไม่พบช่วงเกิดหมอกควันมีประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นควันกัน" รศ.นพ.ชัยวัฒน์ กล่าว
          ส่วนทางออกในอนาคต รศ.นพ.ชัยวัฒน์ เสนอว่า การแก้ไขบังคับทุกฝ่ายโดยเฉพาะภาครัฐต้องเอาจริง และบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาอย่างเข้มข้น วางแผนทำฝนเทียมเพิ่มความชุ่มชื่นในอากาศ เพื่อลดปัญหาหมอกควันและมลพิษไม่ให้รุนแรง รวมทั้งต้องวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวเพราะแม้ปัญหาจะเกิดขึ้นเพียง 1-2 สัปดาห์ ก็กลับสู่ภาวะปกติ หากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาวได้
          นอกจากหมอกควันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของ จ.เชียงใหม่ นายสิงห์คำ นันติ ประธานสหกรณ์นครลานนาเดินรถ จำกัด ผู้ประกอบการรถรับจ้างสี่ล้อแดง เล่าว่า ปัญหาหมกควันที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีอาชีพขับรถรับจ้างสี่ล้อแดงพอสมควร เพราะนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการมีจำนวนลดลง โดยช่วงที่เกิดหมอกควันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม นักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 10% ไม่เฉพาะคนขับรถสี่ล้อแดงเท่านั้น ผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น คนขับรถตุ๊กตุ๊ก พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันเพราะค้าขายลำบาก
          สี่ล้อแดงถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาจึงต้องการมาสัมผัส และใช้บริการเพื่อเดินทางไปเที่ยวชมยังสถานที่ต่างๆ ด้วยบริการสาธารณะของท้องถิ่น แต่หมอกควันที่เกิดขึ้น รวมทั้งข่าวสารที่ได้รับทำให้นักท่องเที่ยวกังวล และไม่กล้ามาใช้บริการ
          "แม้ปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่สัปดาห์เมื่อถึงสงกรานต์ก็กลับสู่ภาวะปกติ แต่อยากให้หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญ และจริงจังกับการแก้ไขปัญหา รวมทั้งวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวเพื่อไม่ให้หมอกควันเกิดขึ้นซ้ำซากอีก เพราะนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนลดลง 10% ในช่วงนี้ หากปล่อยให้เกิดขึ้น และสะสมเป็นเวลาต่อเนื่องทุกปี อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะยาวได้" นายสิงห์คำกล่าว
          เช่นเดียวกับ นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นมานานแล้ว ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการเผาเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในชนบท เดิมปัญหายังไม่รุนแรงแต่ปัจจุบันแนวโน้มปัญหาดูเหมือนรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยจากสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากหนาวเข้าสู่ร้อน มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุม และผู้คนในสังคมปัจจุบันให้ความสนใจใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก แต่เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เผชิญปัญหาหมอกควัน เช่น ในหลายมณฑลของจีน หมอกควันที่เกิดขึ้นในภาคเหนือไม่รุนแรงเท่า แต่ที่เราตื่นตระหนกกันมากส่วนหนึ่งเพราะข่าวสารที่เผยแพร่ไป
          "ในระยะสั้นช่วงที่เกิดหมอกควันอาจส่งผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะในช่วง 5-10 วันที่ค่าพีเอ็ม 10 พุ่งสูงเกินมาตรฐาน แต่ไม่รุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมีปัญหา เพราะเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนสถานการณ์ก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติเป็นประจำทุกปีเช่นกัน" นายณรงค์กล่าว
          ทั้งนี้ ต้องมาดูข้อมูลด้านอื่นมาประกอบเพื่อทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจนทำให้ปัญหามีแนวโน้มรุนแรง เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง รวมทั้งมีปริมาณรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ข้อมูลจำนวนประชากรของเชียงใหม่ มี 1.7 ล้านคน แต่มีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนอยู่ถึง 1.8-1.9 ล้านคัน ส่วนรถยนต์ที่จดทะเบียนมีถึง 1 ล้านคันแล้ว ควันจากไอเสียเครื่องยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เราจึงต้องเร่งสร้างความตระหนักและไม่ควรตระหนกกับปัญหามาก
          ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างจิตสำนึก รณรงค์งดเว้นการเผาอย่างจริงจัง มิฉะนั้นในอนาคตปัญหาอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
          ป่วย"มะเร็งปอด"เกินค่าเฉลี่ย4เท่า
          สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือสถิติผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่สูงขึ้น โดย รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ตามทฤษฎีจากงานวิจัยที่ทั่วโลกศึกษา ชัดเจนว่าควันจากการเผาไหม้เป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดสารเคมีหลายชนิดที่ก่อให้เกิด "โรคมะเร็ง" โดยเฉพาะสาร PAHs เป็นสารที่พบในเขม่าควัน เช่น จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การเผาไหม้เศษใบไม้ หญ้าแห้ง เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ เคยมีการวิเคราะห์สาร PAHs จากการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นแล้วพบว่า ทั้งการเผาป่า และเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร ล้วนก่อให้เกิดสารชนิดนี้ทั้งสิ้น
          เมื่อนำมาวิเคราะห์รวมกับข้อมูลของผู้ป่วย "มะเร็งปอด" ในภาคเหนือพบว่า มีสถิติสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ มีอุบัติการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 4 เท่า แม้มีข้อโต้เถียงว่าอาจเกิดจากการสูบบุหรี่ แต่เมื่อนำข้อมูลผู้สูบบุหรี่ในภาคเหนือ พบว่าภาคเหนือมีตัวเลขผู้สูบบุหรี่อยู่อันดับที่ 3 ขณะที่อันดับ 1 คือ ภาคใต้ รองลงมาคือ ภาคอีสาน จึงไม่สนับสนุน หรืออธิบายได้ว่าหากเกิดจากการสูบบุหรี่เหตุใดตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในภาคเหนือถึงอยู่อันดับ 3 ฉะนั้นสาร PAHs จากการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง


pageview  1205886    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved