HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 11/03/2556 ]
ระวังดื้อยา "เชื้ออหิวาตกโรค"

 "อหิวาตกโรค" เป็นโรคติดต่อจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae O1 และ O139 โรคนี้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ การท่องเที่ยว และการส่งออกอาหาร อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อที่ต้องควบคุม ป้องกันเพราะมีแนวโน้มแพร่ระบาดข้ามประเทศ จึงต้องแจ้งเรื่องต่อองค์การอนามัยโลกภายใน 24 ชั่วโมง ตากกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548
          จากรายงานการพยากรณ์อหิวาตกโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ2556 จะมีการระบาดใหญ่ เนื่องจากการระบาดครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2547, 2550 และ 2553 ตามลำดับ โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยอหิวาตกโรคไม่เกิน 1,000 รายต่อปี
          สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้มีการเฝ้าระวังการดื้อยาของเชื้ออหิวาตกโรคทางห้องปฎิบัติการ โดยทดสอบความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพ 6 ชนิด คือ แอมพิซิลลิน (Ampicillin), คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol), ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin), โคไตรม็อกซาโซล (Co-trmoxazole), นอร์ฟล็อกซาซิน (Norfloxacin) และเตตราไซคลีน (Tetracycline)
          โดยได้ดำเนินการทวนสอบข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี คือ ปี พ.ศ.2553-2555 พบว่า เชื้อ Vibrio cholerae O1} El Tor, Ogawa ดื้อยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) ร้อยละ 97.7 และเตตราไซคลีน (Tetracycline) ร้อยละ 94.7 เชื้อ Vibrio cholerae O1, El Tor, Inaba ดื้อยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) ร้อยละ 99.1 เชื้อ Vibrio cholerae O1, El Tor, Hikojima ดื้อยาโคไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) และเตตราไซคลีน (Tetracycline) ร้อยละ 100 ส่วน Vibrio cholerae O139 ไม่ดื้อยาที่ทดสอบ
          ทั้งนี้ เชื้อ Vibrio cholerae O1, El Tor, Hikojima ในประเทศไทยพบน้อยมาก ดังนั้นขอแนะนำสถานพยาบาลว่าก่อนที่จะพิจารณาเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะในการรักษา ควรใช้ข้อมูลเฝ้าระวังการดื้อยาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา ซึ่งปัจจุบันการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะช่วยลดระยะอาการของโรคให้สั้นลง ลดการสูญเสียน้ำ ตลอดจนลดระยะเวลาของการแพร่กระจายเชื้ออีกด้วย
          อาการของอหิวาตกโรคมีได้ตั้งแต่ไม่แสดงอาการจนถึงอาการรุนแรง หากพบผู้ป่วยต้องรักษาอย่างทันท่วงทีด้วยการให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรดและภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
          แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะ
          -เด็ก ให้ Dozycycline 5 มล./กก./วัน หรือ Norfloxacin หรือ Ciprofloxacin 10-20 มก./กก./วัน นาน 5 วัน
          -ผู้ใหญ่ ให้ Doxycycline ครั้งละ 100 มก. หรือ Norfloxacin ครั้งละ 400 มก. หรือ Ciprofloxacin ครั้งละ 500 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน หรือ Tetracycline ครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วัน
          การป้องกันการเกิดอหิวาตกโรค ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารทะเลดิบหรือสุกๆ ดิบๆ และที่สำคัญควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ
          นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย
          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
          กระทรวงสาธารณสุข


pageview  1205428    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved