HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 18/02/2556 ]
มะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัวคุณผู้หญิง

 อัตราผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งนั้น มะเร็งปากมดลูกยังครองแชมป์อันดับหนึ่งของหญิงไทย มีสถิติการเสียชีวิตสูงถึงวันละ 14 คน ทั้งที่ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกรักษาหายได้ถ้ารักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ และมีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกอีกด้วย
          ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารักษาที่โรงพยาบาลนั้นมีอาการอยู่ในระยะที่ 3-4 ซึ่งเป็นอาการที่หนักมากแล้วจึงจะมาพบแพทย์ ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง
          ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วล้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ เพราะมะเร็งปากมดลูกเกิกจากการติดเชื้อ HPV (Human papilloma viruses) ชนิดมีความเสี่ยงสูง (โดยพบสายพันธุ์ 16 และ 18 บ่อยที่สุด) จากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับหลายคนเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับชายคนเดียวแต่ผู้ชายคนนั้นมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น
          ถึงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 100% ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อไวรัส HPV ชนิดก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย และเชื้อนี้ใช้ระยะเวลาก่อมะเร็งช้า สามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่า 10 ปี โดยไม่แสดงอาการ แต่เป็นข้อดีเพราะมีเวลานานพอที่จะตรวจพบและรักษาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ซึ่งมีโอกาสหายได้ ทั้งนี้การติดเชื้อไวรัส HPV นั้น กว่า 90% ร่างกายสามารถกำจัดได้เอง มีส่วนน้อยที่เป็นการติดเชื้อแบบเนิ่นนานและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกจนกลายไปเป็นเซลล์มะเร็ง
          อาการป่วยมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง ที่พบบ่อย คือ อาการเลือดออกระหว่างรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มักไม่มีอาการปวด แต่ถ้าลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรายจะมีอาการปวดหลังได้ หรือถ้าอาการลุมลามมากจะมีปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด
          การรักษาตามระยะของมะเร็งแบ่งออกเป็น
          -ระยะก่อนมะเร็ง จะรักษาโดยการผ่าตัดเล็กเพื่อตรวจและติดตามอาการซึ่งสามารถรักษาหายได้ 100%
          -ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูก รักษาโดยการผ่าตัดมดลูก และต่อมน้ำเหลืองในเชิงกรานมีโอกาสหาย 80-90%
          -ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งกระจายออกนอกมดลูก ไม่สามารถผ่าตัดมดลูกได้ รักษาโดยการฉายรังสีและการให้เคมีบำบัด (คีโม) มีโอกาสหาย 50-60%
          -ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายชิดเชิงกรานรักษาโดยการฉายรังสี ฝังแร่และเคมีบำบัด โอกาสหายประมาณ 20%
          -ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นที่ไกลอออกไป เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ รักษาโดยเคมีบำบัด เพื่อประคองให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีและมีเวลาอยู่ได้นานขึ้น โอกาสหายน้อยมาก
          การตรวจหามะเร็งปากมดลูกจึงสำคัญมากเพราะถ้าตรวจพบเร็วเท่าใดโอกาสรักาษาหายก็มีมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันมีการตรวจภายในที่สะดวก รวดเร็วเพื่อเก็บเนื้อเยื่อเพียงเล็กน้อยเพื่อตรวจว่าเซลล์จากตัวอย่างเนื้อเยื่อนั้นมีความผิดปกติหรือไม่
          ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์และควรตรวจเป็นประจำ ก่อนการตรวจควรเตรียมตัว โดยการงดการล้างหรือเหน็บยาใดๆ ที่ช่องคลอด 24-48 ชั่วโมง ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตรวจ 1 วัน ควรมาตรวจหลังมีรอบเดือน 1 สัปดาห์
          เชื้อ HPV จะมี 2 ประเภท คือ เชื้อแบบที่ไม่ก่อมะเร็งแต่ทำให้เกิดหูดหงอกไก่ และเชื้อแบบที่ก่อมะเร็งซึ่งมีหลายสายพันธุ์ จึงมีการนำเชื้อสายพันธุ์ที่ก่อมะเร็งและพบบ่อย (ชนิดที่ 16, 18) มาทำวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
          วัคซีน HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ซึ่งจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าและนานกว่ามีประสิทธิภาพดีป้องกันได้ 70% ช่วงอายุที่แนะนำคือ 9-26 ปี ส่วนผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ววัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยมีการติดมาก่อนและการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์เดิม จึงยังได้ประโยชน์จากการป้องกันมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฉีดทั้ง 3 เข็ม ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรก 1-2 เดือน และครั้งที่ 3 หลังจากครั้งแรก 6 เดือน จากงานวิจัยปัจจุบันซึ่งตามมาประมาณ 10 ปี ยังไม่แนะนำให้มีการฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
          ปัจจุบันมีวัคซีนในตลาด 2 ชนิด ชนิดแรก เป็นวัคซีนสายพันธุ์ 16 และ 18 เน้นป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่มีสาเหตุมากจากสายพันธุ์ก่อมะเร็ง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าและนานกว่า อีกชนิดคือวัคซีน 4 สายพันธุ์ (16, 18, 6 และ 11) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดอวัยวะเพศ จะเลือกชนิดใดควรปรึกษาแพทย์
          การป้องกันมะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้โดยการลดพฤติกรรมเสี่ยงและการตรวจแพ็ปสเมียร์อย่างสม่ำเสมอตลอดจนการฉีดวัคซีน HPV หากทำร่วมกันทั้งสองวิธีจะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
 


pageview  1205850    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved