HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 07/02/2555 ]
โรคหัวใจในเด็ก
          “เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว เขียวตามร่างกาย อาการสำคัญที่รอไม่ได้” 
          ในทัศนะของแพทย์ผู้ชำนาญเกี่ยวกับโรคหัวใจในเด็ก มีคำกล่าวว่า เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก หมายถึง การรักษาหรือการตรวจวินิจฉัยอาการโรคหัวใจในเด็ก ย่อมมีความซับซ้อน และประกอบด้วยรายละเอียดมากมายที่แตกต่างไปจากโรคหัวใจในผู้ใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะทางแม้แต่ในหมู่แพทย์โรคหัวใจด้วยกัน 
          โรคหัวใจในเด็ก แบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่เป็นแต่กำเนิด คิดเป็นร้อยละ 70 ซึ่งส่วนมากมักเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ มีส่วนน้อยที่เกิดจากพันธุกรรม หรือการติดเชื้อ หรือการใช้ยาของแม่ระหว่างการตั้งครรภ์โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นกลุ่มที่พบภาวะโรคหัวใจเกิดขึ้นในภายหลัง ภาวะที่พบบ่อยที่สุดคือ ลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งในประเทศไทยที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากการติดเชื้อรูห์มาติก เชื้อไวรัส หรือติดเชื้ออื่นๆ ที่ส่งผลต่อการทำลายลิ้นหัวใจโดยตรง 
          นอกจากนี้ ยังมีโรคที่เกิดกับหลอดเลือดหัวใจอย่าง เช่น โรคทากายาสุ (Takayasu Disease) ซึ่งผู้ป่วยจะมีหลอดเลือดหัวใจโป่งพองเป็นกระเปาะ ถ้ามีขนาดใหญ่อาจส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจแตกและเสียชีวิตได้
          เด็กที่มีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจ
          สามารถดูได้จากอาการทั่วๆ ไป เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น อ่อนแรง หรือมีอาการเขียวที่ริมฝีปาก เล็บมือ และเล็บเท้า โดยอาการดังกล่าวจะแสดงออกเร็วกว่าเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกันที่ทำกิจกรรมอย่างเดียวกัน บางครั้งเด็กเหล่านี้อาจมีอาการและสามารถบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับกลุ่มที่เป็นโรคหัวใจแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งวินิจฉัยได้ยากกว่า เพราะเด็กกลุ่มนี้จะสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติทุกอย่าง แต่หากมีการตรวจร่างกายจึงจะพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
          การตรวจหาโรคหัวใจที่ง่ายและเชื่อถือได้มากที่สุด
          การทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า การตรวจเอคโค่ (echocardiography) โดยคลื่นเสียงความถี่สูง จะแสดงภาพภายในของหัวใจแสดงเป็นรูปสองมิติ สามมิติ และบางครั้งอาจได้ถึงสี่มิติ คือมิติของเวลาด้วย ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะผิดปกติของวงจรหัวใจได้ละเอียดขึ้น วิธีการนี้มีความปลอดภัยสูงมาก เพราะผู้รับการตรวจจะไม่ต้องเสี่ยงต่อกัมมันตรังสี เนื่องจากไม่มีการเอกซเรย์มาเกี่ยวข้อง และไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ในผู้ป่วยบางรายการตรวจเอคโค่ อาจไม่สามารถให้รายละเอียดได้เพียงพอ แพทย์อาจต้องส่งตรวจต่อไปด้วยการทำคอมพิวเตอร์ซีทีสแกน (CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กแรงสูงที่เรียกว่า เอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการสวนหัวใจ (cardiac catheterization)
          การรักษาโรคหัวใจในเด็ก แบ่งเป็น 3 วิธี คือ
          1) การให้ยาและติดตามอาการโดยนัดตรวจเป็นระยะ
          2) การทำหัตถการบางอย่าง เช่น ทำบอลลูนขยายลิ้นหรือหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ หรือใส่เครื่องมือเข้าไปปิดรูรั่วในหัวใจ เป็นต้น 
          3) การผ่าตัด ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าจะเลือกรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดและระดับความรุนแรงของโรคในขณะที่ตรวจพบ 
          โรคหัวใจในเด็ก บางคนมักเข้าใจว่า ไม่ควรผ่าตัดเด็กที่ยังมีน้ำหนักไม่ถึง 10 กิโลกรัม แต่ในความเป็นจริงแล้ว การผ่าตัดในปัจจุบันสามารถทำได้แม้ในเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยมาก หากมีความจำเป็น ฉะนั้น จึงไม่ควรรอจนอาการมากแล้ว โรคหัวใจในเด็กหากมีข้อบ่งชี้ในการรักษาควรรักษาก่อนวัยเรียน เพราะหากยิ่งรอนานขึ้นเท่าไหร่ ก็หมายถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่มีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
          บำรุงราษฎร์ รักษ์ใจไทย โครงการผ่าตัดหัวใจผู้ยากไร้และส่งเสริมสุขภาพหัวใจ โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมมือกับ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดตั้งและดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคลิ้นหัวใจรั่ว พร้อมด้วยโครงการส่งเสริมสุขภาพหัวใจ ภายใต้ชื่อโครงการ ‘บำรุงราษฎร์ รักษ์ใจไทย’ โดยเริ่มโครงการในปี 2551 จนถึงปัจจุบัน มีเด็กที่ได้รับการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจแล้วร่วม 280 ราย
          รศ.นพ.สัมพันธ์ พรวิลาวัณย์
          ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก 
          โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved