HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 30/11/2555 ]
แนะผู้หญิงรักตัวเอง-อย่าอาย" ลดความรุนแรงในครอบครัว

  “รักครอบครัวไม่อยากให้มีความรุนแรงทุกรูปแบบ...ไม่อยากให้ผู้หญิงโดนทำร้าย...ไม่อยากให้ตัดสินด้วยความรุนแรงให้หันหน้าคุยกัน” แม้เป็นประโยคสั้นๆ ทว่าเปี่ยมล้นความหมาย เพราะกลั่นออกจากใจชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ที่ตั้งอกตั้งใจเขียนลงบนกระดาษแผ่นเล็กๆ แล้วนำไปติดไว้ในบอร์ดนิทรรศการยุติความรุนแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเล็กๆ แต่อบอวลด้วยความอบอุ่น ภายใน ”งานรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงในปี 2555” จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ และในงานมีการเสวนา “บทเรียน 5 ปี  พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว”
          นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ฉายภาพว่า จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในแต่ละปีมีผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงขอความช่วยเหลือจากศูนย์ประมาณ 2.6 หมื่นคน หรือเฉลี่ยวันละ 71 คน และมูลนิธิได้สำรวจ ”สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว” ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม-10 พฤศจิกายน 2555 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ชุมพร และกรุงเทพฯโดยมีกลุ่มตัวอย่าง 1,005 คน มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมถึงปริญญาตรี
          ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างระบุ สถานที่ที่พบเห็นความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด รองลงมา 51.1% ระบุเพื่อนบ้านชุมชน รองลงมา 35% พื้นที่จากสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และ 11% พบเห็นในครอบครัวตนเอง และ 78.1% มองว่าความรุนแรงเกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
          กลุ่มตัวอย่าง 80.8% รู้ว่ามีกฎหมายคุ้มครอง แต่ไม่รู้รายละเอียด และ 77.8% รู้ว่ามีหน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆ ให้คำแนะนำ แต่ผู้ถูกกระทำไม่กล้าขอความช่วยเหลือ โดยกลุ่มตัวอย่าง 42.1% ระบุอาย 37% ไม่รู้ช่องทางและขั้นตอนการรับคำปรึกษา 16.4% ไม่เชื่อว่าหน่วยงานรัฐจะช่วยเหลือได้จริง และ 4.5% กลัวมีปัญหากระทบต่อหน้าที่การงาน กลัวถูกตำหนิ ไม่อยากให้คนอื่นรู้
          อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่าง 85.6% ต้องการให้ผู้ถูกกระทำออกมาปกป้องสิทธิ และ 89.2% เห็นว่ากฎหมายต้องบังคับใช้จริงจัง   70.8% ชุมชนควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และ 81% สื่อละคร สื่อออนไลน์ไม่ควรส่งเสริมพฤติกรรมเลียนแบบการใช้ความรุนแรง
          “การใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่อาย ไม่กล้าใช้สิทธิตามกฎหมาย กลไกหน่วยงานรัฐและทัศนคติเจ้าหน้าที่ยังมีปัญหา เช่น ตำรวจบางคนมองว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว  และตำรวจในพื้นที่ห่างไกลไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองฯ และการทำงานของกระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยังเป็นไปแบบแยกส่วน มูลนิธิจะไปขอเข้าพบ รมว.พม.เพื่อขอให้จัดระบบหน่วยงานของ พม.ให้มีความเป็นเอกภาพ และจะขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มอัตราตำรวจสืบสวนหญิงให้ครอบคลุมทุกจังหวัด” นายจะเด็จ แนะทางออก
          น.ส.อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา เสนอแนะว่า หากจะใช้กฎหมายคุ้มครองได้เกิดประสิทธิภาพ จะต้องทำให้ผู้หญิงมีความสบายใจ ไม่อายที่จะใช้สิทธิ โดยสร้างความรู้ความเข้าใจและปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่รัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองฯ อย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ถูกกระทำเกิดความเชื่อมั่นว่า กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ และกล้าลุกขึ้นมาใช้สิทธิตามกฎหมาย
          นอกจากนี้ อยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่แก้ปัญหา รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนร่วมกันเฝ้าระวังและแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และควบคุมสื่อละคร สื่อออนไลน์ไม่ให้เผยแพร่พฤติกรรมรุนแรง และปลูกฝังทัศนคติให้เด็กผู้ชายรู้จักให้เกียรติ ไม่ทำร้ายผู้หญิงและเคารพในความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง
          นางเอ (นามสมมุติ) วัย 40 ปี ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมานานกว่า 18 ปี เล่าว่า ถูกสามีทุบตี ทำร้ายและกักขังมานานหลายปี เพราะสามีหึงหวง จึงไปขอคำปรึกษาจากมูลนิธิและตัดสินใจใช้กฎหมายคุ้มครองฯ เพื่อช่วยให้พ้นจากการถูกกระทำรุนแรง กระทั่งสามียอมหย่าและเลิกรากันในที่สุด
          “อยากให้ผู้หญิงทุกคนรักตัวเอง อย่าอาย กล้าลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตนเองโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปกป้องตนเอง” นางเอแนะ
          เชื่อว่า ”ความกล้า” ของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาทวงสิทธิและปกป้องตนเอง จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้มากขึ้น แต่เหนืออื่นใด หากหน่วยงานรัฐและเอกชนผนึกกำลังส่งเสริมให้เกิดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวและรณรงค์ลดละเลิกอบายมุขอย่างจริงจัง จะเป็นพลังยิ่งใหญ่ให้ปัญหานี้ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
 


pageview  1206111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved