HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 13/11/2555 ]
โรคของต่อมไทรอยด์

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ กรุงเทพ
          โรงพยาบาลกรุงเทพ
          โทร.0-2755-1129, 0-2755-1130         

          โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างและหลั่งฮอร์โมนออกมาน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายต่ำ ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น ได้แก่ ท้องผูก ขี้หนาว อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เชื่องช้า ขี้ลืม ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เสียงแหบ ผิวแห้ง ใบหน้าเปลือกตาหรือมือเท้าบวม ซึมเศร้า ชีพจรเต้นช้า ถ้าเป็นมากอาจพบภาวะหัวใจวาย น้ำท่วมปอด และช่องเยื่อหุ้มหัวใจในเด็กเล็กจะมีพัฒนาการช้าตัวเตี้ย และสติปัญญาต่ำได้
          สาเหตุที่พบบ่อย
          ได้แก่ การขาดสารไอโอดีน การอักเสบเรื้อรังของต่อมไทรอยด์ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การได้รับยาต้านไทรอยด์มากเกินไป การกลืนน้ำแร่รังสีไอโอดีน และโรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด
          การวินิจฉัยจากการซักถามประวัติ อาการ หากตรวจพบระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการให้รับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน ซึ่งมักต้องรับประทานยาตลอดชีวิต และต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสม โดยพิจารณาจากผลเลือดเป็นระยะ การเริ่มยาในผู้สูงอายุต้องเริ่มจากขนาดต่ำก่อนแล้วจึงค่อยปรับขนาดยาจนได้ระดับที่เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกับยาบำรุงเลือด แคลเซียม ยาลดกรดในกระเพาะรวมทั้งอาหารที่มีกากใย หรือนมเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากมีผลรบกวนการดูดซึมของยาฮอร์โมนไทรอยด์ และควรรับประทานยาขณะท้องว่างห่างจากยา หรืออาหารที่รบกวนการดูดซึมอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
          ผู้ป่วยที่วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์ในระยะแรก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเพิ่มขนาดยาให้เหมาะสม เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายมีความต้องการฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยในการทำงานของระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบประสาทของทารกในครรภ์ โดยทั่วไปมักเพิ่มขนาดยาอีก 30% จากขนาดยาที่ใช้อยู่เดิมขณะไม่ตั้งครรภ์
          โรคก้อนที่ต่อมไทรอยด์
          พบบ่อยในเพศหญิง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อาศัยในบริเวณที่ขาดสารไอโอดีน ลักษณะอาจเป็นก้อนเดี่ยวหรือเป็นก้อนหลายก้อนบริเวณต่อมไทรอยด์ ตรวจพบได้จากการคลำต่อมไทรอยด์ หรือจากการตรวจทางรังสี เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยพบอุบัติการณ์ของมะเร็งประมาณ 4.6.5%
          สาเหตุเกิดจาก
          1.เนื้องอกชนิดธรรมดาของต่อมไทรอยด์  ได้แก่ ถุงน้ำ (Cyst) ก้อนที่เกิดจากการอักเสบเฉพาะที่เลืดออกในต่อมไทรอยด์ เนื้องอกชนิดนี้จะไม่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย
          2.เนื้องอกชนิดธรรมดาของต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษร่วมด้วย (Toxic Adenoma) โดยฮอร์โมนไทรอยด์จะถูกสร้างออกมามากผิดปกติจากเนื้องอกชนิดนี้ ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษขึ้น
          3.มะเร็งของต่อมไทรอยด์ อาจเกิดจากก้อนเดี่ยวขนาดเล็ก และ โตขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองกระดูก หรือปอด
          4.คอพอก หรือคอหอยพอก (Nodular Goiter) ต่อมไทรอยด์จะโตทั่ว ๆ ฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในระดับปกติ เกิดจากการขาดสารไอโอดีนไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง หรือการขาดสารบางอย่างที่ใช้ในกระบวนการสร้างฮอร์โมน
          การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เช่น การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อให้ก้อนมีขนาดเล็กลงในกลุ่มที่ไม่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือกรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์จำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจ และรักษาด้วยการผ่าตัด


pageview  1205544    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved