HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 20/09/2555 ]
คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ: น้ำท่วม 'ระวังโรคระบาด'

ช่วงฤดูฝนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่น้ำท่วมได้นำพาสิ่งปฏิกูลและเชื้อโรคต่าง ๆ มาสู่คนได้ฉะนั้นผู้ประสบภัยน้ำท่วมควรใส่ใจกับสุขอนามัยให้มากขึ้นและหาวิธีป้องกันหากพบโรคระบาดในพื้นที่
          โรคฉี่หนู
          เป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์โดยมาจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ ตั้งแต่ หนู วัว ควาย โดยคนจะสามารถรับเชื้อนี้เข้าไปทางบาดแผลหรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปาก
          อาการ ของโรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือ แบบไม่รุนแรงจะมีอการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อนปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยรู้ตัวและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ กับอาการรุนแรงที่จะทำให้ตาอักเสบ แดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ และเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้เกิดอาการเพ้อไม่รู้สึกตัว และยิ่งไปกว่านั้น หากติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้เลือดออกในร่างกายจนเสียชีวิต          
          การป้องกัน หลีกเลี่ยงการเดินอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง การเล่นน้ำ โดยเฉพาะในเด็กที่มักจะสนุกสนานไปกับการย่ำน้ำหรือเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม แต่หากจำเป็นต้องเดินผ่านบริเวณช่วงน้ำท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบเดิน อย่าแช่น้ำจนผิวหนังเปื่อย เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และควรใส่รองเท้าบู๊ททุกครั้งที่เดินลุยน้ำ ส่วนในผู้ที่เริ่มมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ให้รีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน อย่ารอให้อาการหนักเพราะอาจจะรักษาไม่หายและอาจเสียชีวิตเป็นได้
          โรคอหิวาตกโรค
          เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholorae ที่แพร่กระจายอยู่ในน้ำดื่มและอาหาร โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค และแน่นอนว่าโรคนี้แพร่ระบาดได้โดยการกินและดื่มอาหารที่มีแมลงวันตอม และมีเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ รวมทั้งอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ด้วย
          อาการ ผู้ป่วยจะอุจจาระเหลว เป็นน้ำวันละหลายครั้ง อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียน
          การป้องกัน ควรรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด ไม่ควรนำน้ำท่วมมาล้างหรือทำความสะอาดภาชนะ หากติดเชื้ออหิวาแล้วก็ควรพบแพทย์ และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
          ไข้ไทฟอยด์
          เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonolla Typhi ที่อยู่ในน้ำและอาหารเช่นเดียวกับอหิวาตกโรคแพร่ระบาดโดยการดื่มน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
          อาการ หลังการรับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว เบื่ออาหาร มีไข้สูงมาก ท้องร่วง บางรายมีผื้นขึ้นตามตัว แน่นท้อง สามารหายได้เองภายใน 1 เดือน แต่ผู้ป่วยควรจะพบแพทย์ หลังจากมีอาการแล้วเพราะอาจจะเสียชีวิตจากภาวะปอดบวมได้
          การป้องกัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเชื้อโรคทุกชนิดและนั่นหมายถึงว่าให้ทานอาหารที่สะอาด อยู่ในภาชนะที่สะอาด รวมถึงล้างมือให้สะอาดก่อนทานทุกครั้ง และควรจะหลีกเลี่ยงอาหารจากร้านค้าข้างถนนที่อยู่ในบริเวณที่ไม่สะอาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรืออีกทางหนึ่ง คือ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์
          โรคตาแดง
          เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส Chlamydia Trachomatis และ Bacterial Conjunctivitis อาจมาจากภูมิแพ้หรือสัมผัสสารที่เป็นพิษต่อตา มักเกิดจากการเอามือที่สกปรกไปขยี้หรือสัมผัสดวงตา รวมถึงใช้ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าเช็ดหน้าไปสัมผัสกับดวงตา
          อาการ ผู้ป่วยจะมีอาการคันตาจนหลายรายต้องขยี้บ่อย หรือบางคนแค่เคืองตาเท่านั้น และมีขี้ตามากกว่าปกติ มีลักษณะเป็นหนองและมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้าและมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ตามัวหรืออาจปวดตา
          การป้องกัน ควรล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาในทุกกรณี และอย่าใช้ยาหยอดตาร่วมกับคนอื่น หากเริ่มเคืองตาหรือคันตาให้รีบปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์
          ไข้เลือดออก
          เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในเด็ก มักระบาดในฤดูฝนที่มีการแพร่พันธุ์ของยุงลาย
          อาการ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน เบื่ออาหาร อาเจียนออกมามีสีน้ำตาลปนอยู่ ปวดกล้ามเนื้อตัวแดง หรืออาจมีผื่นหรือจุดเลือดตามผิวหนัง หากเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ผู้ป่วยจะไข้ลด มือเท้าเย็น ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว อาเจียนมาก ปัสสาวะน้อย ทำให้เข้าสู่ภาวะช็อคได้ หากมีอาการ ควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
          การป้องกัน พยายามอย่าให้ยุงกัดโดยทายากันยุงเป็นวิธีที่ดีที่สุด และอย่าปล่อยให้ภาชนะต่าง ๆ ภายในบ้านมีน้ำขังนานเพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หรือหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ไม่ควรให้ยุงกัด เพราะจะทำให้แพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิดได้ เนื่องจากยุงจะนำเชื้อไปถ่ายให้คนปกติได้


pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved