HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 17/09/2555 ]
"หัวใจขาดเลือด" ถึงตาย

  ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดจากการที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะ "เป็นตาย" เท่ากัน ต้องได้รับการรักษาอย่างฉับไว และป้องกันอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุหัวใจขาดเลือด
          เกิดได้จากผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง โรคเขาหวาน ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน การสูบบุหรี่  ความเครียดพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ขาดสมดุลและขาดการออกกำลังกาย
          ร่างกานที่มีภาวะไขมันล้นเกิน จนไปพอกเป็นตะกรัน (Plaque) เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด เมื่อรวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากีดกินก็ทำให้เกิดเป็นกลุ่มเซลล์ที่ไม่สามารถดูดกลับเข้าไปในร่างกายได้ เมื่อเวลาผ่านไปตะกรันนี้จะแตกตัวหรือปริออก หลอดเลือดจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จนเกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด ถ้าเป็นการแตกตัวที่แขนงเล็ก ผู้ป่วยจะมีเพียงอาการเจ็บหน้าอกแต่ถ้าหากลิ่มเลือดนี้อุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ ผู่ป่วยอาจเสียชีวิตได้ ก่อนถึงมือหมอ
          อาการเจ็บของภาวะกล้ามเนื่อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จะปวดไปทั่วบริเวณ บอกตำแหน่งได้ยากเหมือนใอะไรหนักๆมาทับหน้าอกและปวดติดต่อกัน 20-30 นาทีหรือมากกว่านั้น ซึ่งในกรณีนี้ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด เป็นเรื่องที่ต้องแข่งกับเวลา การวินิจฉัยที่แม่นยำและการรับมือกับโรคอย่างถูกต้อง ตรงจุดและรวดเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาชีวิตผู้ป่วย ซึ่งตามมาตราฐานแล้ว ทุกขั้นตอนควรทำให้แล้วเสร็จภายใน 90 นาที
การช่วยชีวิต
          เมื่อผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยในเบื้องต้น พร้อมทั้งทำกราฟหัวใจประกอบการวินิจฉัยเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นภาวะหัวใจขาดเลือดจริงๆ ซึ่งถ้ากราฟแสดงผลผิดปกติ ก็จะสามารถยืนยันได้ว่ามีการขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ จากนั้นแพทย์จะฉีดสีเพื่อให้ตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตันแสดงในฟิล์มเอกซเรย์ แล้วจึงเป็นการเปิดหลอดเลือดหลักๆทำได้ 2 วิธี
          1. การใช้ยาละลายลิ่มเลือด วิธีการนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมาถึงมือแพทย์ทันท่วงที เพราะหากการช่วยเหลือมีความล่าช้าจะทำให้ลิ่มเลือดที่อุดตันมีส่วนผสมอื่นเข้ามาเจือปน จนไม่สารถละลายได้ดีเท่าที่ควร ข้อเสียของวิธีนี้คือความเสี่ยงต่อเลือดออกในสมอง ซึ่งเกิดขึ้นประมาณร้อยละ1
          2.การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน วิธีการนี้จะใช้สายสวนที่มีลูกโป่งติดอยู่ตรงปลายสอดเข้าไปบริเวณที่หลอดเลือดอุดตัน ก่อนที่จะเป่าลมให้ลูกโป่งขยายหลอดเลือด และทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกไป นับเป็นวิะที่ให้ผลดีกว่าการใช้ยา ในปัจจุบัน มักจะมีการใช้ดูดลิ่มเลือดและใส่ขดลวดร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดไปอุดตันบริเวณส่วนขยายของหลอดเลือด
ทุกนาทีมีค่า รีบไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการดังนี้
          - เจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับโดยเจ็บอย่างต่อเนื่องและเจ็บมากขึ้นเป็นเวลานาน  เกินกว่า 5 นาที
          - มีเหงื่อออกตามร่างกาย
          - หายใจถี่กระชั้น
          - มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
          - เจ็บหน้าอกร้าวไปยังบริเวณคอ กราม ไหล่และแขน ทั้งสองข้าง
          - วิงเวียน หน้ามืด
          - ชีพจรเต้นเร็ว
          วิธีการป้องกันและช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา ทำบายพาส ทำบอลลูน และรักษาเบาหวาน การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและได้ผลดีที่สุด ฉะนั้นถ้าไม่อยากเสี่ยงกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่าละเลยเรื่องการออกกำลังกายโดยเด็ดขาด
          นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ รพ.บำรุงราษฎร์ โทร. 0-2667-2000


          เสริมสร้างโรคหัวใจให้แข็งแรง
          เนื่องใน "วันหัวใจโลก" (World Heart Day) ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม "เสริมสร้างหัวใจให้แข็งแรง" ฟังการบรรยายให้ความรู้เรื่อง "การสร้างภูมิคุ้มกันโรคหัวใจให้ห่างไกลจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย" โดย รศ.นพ.สุวัจชัย พรรัตนรังสี อายุรแพทย์ด้านหัวใจ ร่วมฟังเคล็ดลับการดูแลสุขภาพหัวใจกับแขกรับเชิญคนพิเศษ คุณหมิว ลลิตา ศศิประภา ชมการสาธิตเมนูเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยนักโภชนาการ และร่วมออกกำลังกาย ออกกำลังใจ จากนักกายภาพบำบัด การประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจพร้อมรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจ
          ในวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 ระหว่างเวลา 10.00-14.00น. ณ สกายล็อบบี้ ชั้น 10 อาคารบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คลินิก สุขุมวิท 3

 


pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved