HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 30/08/2555 ]
"กินอยู่อย่างคนรุ่นใหม่"ห่างไกลโรคคนเมือง

คนเมืองรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีแต่ความเร่งรีบ และมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ขาดความใส่ใจเรื่องการบริโภคอาหารที่สมดุล มีความเครียดสะสมจากการทำงาน ส่งผลให้เกิดภาวะ “โรคคนเมือง” หรือ "โรควิถีชีวิต" ที่เกิดจากการมีไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมาะสม เช่น การฝากท้องไว้กับอาหารฟาสต์ฟู้ด จานด่วน บ่อยครั้ง ติดรสชาติหวาน มัน และเค็ม บริโภคผักและผลไม้น้อย หรือออกกำลังกายไม่เพียงพอ
          วิถีชีวิตเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากมายในระยะยาว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง
          นอกจากนี้ ยังจะแสดงอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ปวดหลัง และไหล่ และอาจเป็นโรคที่เกิดจากความเครียดสะสมได้ อาทิ ไมเกรน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ โรคเครียด วิตกกังวล โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคระบบทางเดินหายใจ และภูมิแพ้อากาศ ผื่นคันตามผิวหนัง และอีกหลายโรคที่มาจากการใช้ชีวิตประจำแบบผิดๆ
          การยืน เดิน นั่ง นอน ให้ถูกวิธี ช่วยลดอาการปวดหรือบาดเจ็บตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย 
          - ท่ายืนที่ถูกต้อง ควรยืนให้น้ำหนักบนฝ่าเท้าทั้งสองข้างเท่ากัน และหลังตรง พุงไม่ยื่น ถ้ารู้สึกเมื่อยเมื่อยืนนานๆ ควรเขย่งปลายเท้าทีละข้างสลับไปมา
          - ท่าเดินที่ถูกต้อง ควรเดินให้ปลายเท้าชี้ไปด้านหน้าตรงๆ และมีระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ควรเดินเร็วหรือก้าวยาวจนเกินไป
          - ท่านั่งที่ถูกต้อง หากต้องนั่งนานๆ ควรนั่งหลังตรงอยู่เสมอ ปรับระดับเก้าอี้ให้เหมาะสม อาจจะหาหมอนสักใบมาหนุนเพื่อไม่ให้หลังงอ หรือหาเก้าอี้ตัวเล็กๆ มาวางเท้า เพื่อไม่ให้เลือดไหลลงเท้าจนบวม หรืออาจหาเบาะรองหนุนเก้าอี้เพื่อเพิ่มความสูงให้พอเหมาะและเพิ่มความนิ่มให้รู้สึกสบาย
          - ท่านอนที่ถูกต้อง วัดจากความสบายและความถนัดของแต่ละคน แต่หากมีอาการปวดคอหรือหลัง แนะนำให้นอนเพียง 2 ท่านี้
          1.นอนหงาย ต้องมีหมอนหนุนรองต้นขาเสมอ เพื่อลดอาการปวดหลัง และควรหาหมอนที่เหมาะกับสรีระช่วงคอ
          2.นอนตะแคง ด้านใดด้านหนึ่ง ต้องมีหมอนข้างเพื่อถ่ายเทน้ำหนัก และให้ขาด้านล่างเหยียดตรง
          - ท่านั่งขับรถที่ถูกต้อง ควรปรับเบาะให้พอดีกับช่วงขา และนั่งหลังตรง อาจมีหมอนใบเล็กๆ หนุนหลัง หรือเบาะรองนั่งเพื่อสุขภาพ และอย่านั่งเอนหลังหรือเหยียดขามากเกินไป จะทำให้ปวดหลังได้ 
          การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจึงเป็นวิธีป้องกันที่ง่ายและดีที่สุด กับ "เคล็ดลับพิชิตสุขภาพดี" ทำเองได้ง่ายๆ
          1.ลดน้ำหนัก ควบคุมรอบเอว โดยการบริโภคอาหารแต่เพียงพอ และการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งสามารถบ่งชี้ว่าสุขภาพร่างกายองค์รวมของตนอยู่ในเกณฑ์ใด
          2.ลดหวาน มัน เค็ม ควรบริโภคอาหารที่มีน้ำมัน น้ำตาล เกลือ เท่าที่จำเป็น หรือชิมก่อนปรุง และพยายามไม่เติมเครื่องปรุงเพิ่ม
          3.เติมเต็มผักและผลไม้ ผักและผลไม้เป็นแหล่งวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สำหรับวัยทำงาน แนะนำให้กินผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 ขีด หรือครึ่งกิโลกรัม หรือแบ่งกิน 3 มื้ออาหาร เป็นผักมื้อละ 2 ทัพพี (6 ช้อนกินข้าว) และผลไม้อีกมื้อละ 1 ส่วน
          4.หมั่นขยับออกกำลังกาย ผู้ที่นั่งทำงานในออฟฟิศ ควรหาโอกาสเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันต่างๆ ทั้งในที่ทำงาน ในบ้าน หรือระหว่างเดินทางให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี โดยเคลื่อนไหวร่างกายสะสมกันให้ได้อย่างน้อยวันละ 120-150 นาที เช่น การเดินในที่ทำงาน เนื่องจากภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นภาวะเสี่ยงในผู้ที่นั่งทำงานในออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ 
          5.ใส่ใจอ่านฉลากโภชนาการ ในการรับประทานอาหารทั่วไป เช่น ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง สามารถมองเห็นว่าอาหารนั้นมีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการแปรรูป การอ่านฉลากโภชนาการ เป็นเรื่องสำคัญเพื่อช่วยให้สามารถเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ แนะนำให้อ่านฉลากหวาน มัน เค็ม หรือฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ ที่ให้ข้อมูลปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อและเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคก็จะได้รับทั้งความอร่อย พร้อมคุณค่าทางโภชนาการ ที่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละช่วงวัย
          อากาศดีๆ อาหารดีๆ น้ำสะอาด และการออกกำลังกาย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ซึ่งถือเป็นเคล็บลับในการหลีกหนีโรคภัยต่างๆ  


pageview  1206116    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved