HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 24/07/2555 ]
อย่ากลัวโกลาหลจนไม่เตือนประชาชน

 สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ทั่วประเทศยังไม่อาจเรียกได้ว่า อยู่ในขั้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ ตรงกันข้ามพื้นที่การแพร่ระบาดกลับดูจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่โรคนี้แพร่ระบาดในประเทศไทยมานานกว่า 1 เดือนแล้ว ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ที่มีข่าวว่าเสียชีวิตไปหลายสิบรายนั้น ก็ระบาดมานานแล้วเช่นกัน โดยข้อสันนิษฐานถึงเหตุของพื้นที่การแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังไม่มากเท่ากับการระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา ก็อาจเป็นเพราะว่า การเดินทางของเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคมือเท้าปากนั้น รวดเร็วกว่า กว้างกว่า
          กรุงเทพมหานครยืนยันว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากในพื้นที่ กทม.ได้คลี่คลายแล้ว หลังจากพบว่า ผู้ป่วยใหม่เริ่มลดลง แม้จะมีผู้ป่วยสะสมเกือบ 3,000 ราย สิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยใหม่ไม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอาจจะเป็นเพราะ กทม.นำมาตรการควบคุมโรคที่วางเอาไว้มาดำเนินการอย่างจริงจัง ได้แก่ 1.เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง ด้วยการตรวจร่างกายเด็กทุกคนก่อนเข้าสถานที่ อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนและสวนสนุกในห้างสรรพสินค้า 2.แยกผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยให้พักอยู่บ้านเป็นเวลา 7 วัน 3.ดูแลรักษาความสะอาดสภาพแวดล้อม ของเล่น ของใช้และสุขอนามัยบุคคล 4.ประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันควบคุมโรคแก่ผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่เสี่ยง ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป และ 5.รักษาผู้ป่วยตามแนวทางรักษาของกระทรวงสาธารณสุข
          สิ่งที่ กทม.ดำเนินการไปทั้งหมดนั้น พอจะแสดงให้เห็นว่า โรคมือเท้าปาก แม้ว่าจะระบาดอย่างรวดเร็วและอาจถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรมากนัก หากประชาชนได้รับความรู้ถึงอันตรายของโรค ช่องทางการติดต่อ และวิธีปฏิวัติตนในการป้องกัน หรือไม่ทำให้บุตรหลานอยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งนี้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า หลังจากกรมควบคุมโรคเปิดสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 16-23 กรกฎาคม 2555 มีประชาชนสอบถามทั้งหมด 785 สาย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 สาย ส่วนใหญ่ถามอาการโรค ลักษณะของตุ่มใส การดูแลผู้ป่วย การปิดโรงเรียนและการล้างมือที่ถูกวิธี ก็ยิ่งชัดเจนว่า ยังมีประชาชนที่ไม่มีความรู้ในการปฏิบัติตนอยู่อีกมาก
          นอกจากเรื่องข้อมูลข่าวสารที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเร่งเผยแพร่แล้ว ยังต้องเร่งให้ความจริงเพื่อคลี่คลายข้อสงสัยของประชาชน อย่างกรณีเด็ก 2 ขวบที่เสียชีวิตและสาธารณสุขยังสับสนว่าใช่เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรือไม่ และไม่ยอมฟันธงว่า ตกลงเด็กเสียชีวิตเพราะเหตุใด ขณะที่กระแสข่าวออกไปเรียบร้อยแล้วว่า เสียชีวิตเพราะเอนเทอโรไวรัส 71 นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จะชี้แจงสาเหตุในวันที่ 24 กรกฎาคม พร้อมกับบอกว่า ไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของไทย เพราะพบครั้งแรกเมื่อปี 2541 ดูเหมือนว่า สาธารณสุขจะเลือกไม่กระโตกกระตากเพราะกลัวจะเกิดโกลาหล ทั้งที่เรื่องโรคระบาดนั้นควรจะต้องโวยวายให้ตื่นรู้ พร้อมกับชี้แนะแนวทางหลีกเลี่ยงป้องกัน โดยที่คนของสาธารณสุขจะต้องลงไปคลุกกับจุดแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเต็มที่ เมื่อคนเกิดความกลัวแต่รู้วิธีป้องกันและปฏิบัติตามนั่นต่างหากที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้ดีที่สุด


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved