HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 23/07/2555 ]
โรคมือเท้าปาก ติดต่อจากคนสู่คน

 กลายเป็นข่าวครึกโครมที่กำลังสร้างความหวาดวิตกให้กับทุกคนเป็นอย่างมาก สำหรับโรคระบาดอย่าง "โรงมือเท้าปาก"  ที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นและแพร่กระจายรวดเร็ว ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ แนะนำวิธีในการป้องกันไม่ให้ระบาดไปสู่ลูกหลานหรือคนที่คุณรัก
          โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน โดยมีการระบาดช่วงฤดูฝน โดยมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ประกอบด้วยหลายสายพันธุ์ย่อย ที่พบบ่อยได้แก่สายพันธ์คอกแซกกีไวรัส A16 A5 A9 A10 B1 และ B3 สายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 71 (HEV71) และสายพันธู์ไวรัสเริม (herpes simplex viruses, HSV) โรคมือเท้าปาก ติดต่อจาก "คนสู่คน" ด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อไวรัสที่ออกมาทางน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย
          นอกจากนี้การไอ จามรดกันสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกันหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเพิ่มจำนวนเชื้อภายในลำคอและต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และเพิ่มปริมาณเชื้อภายในระบบทางเดินอาหารส่วนล่างลงมา หลังจากนั้นเชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ ได้แก่ กระพุ้งแก้ม ผิวหนังบริเวณมือ และเท้า โดยเชื้อโรคใช้เวลาฟักตัว ประมาณ 72 ชั่วโมงก่อนที่จะทำให้เกิดอาการ หลังจากนั้นเชื้อไวรัสจะถูกกำจัดออกมาจากลำไส้พร้อมกับอุจจาระ โดยอาจตรวจพบเชื้อไวรัสในอุจจาระได้นาน 6-8 สัปดาห์
          โรคมือ เท้า ปาก เกิดขึ้นได้ทั่วโลกโดยพบบ่อยในช่วงฤดูร้อนและช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ แต่ประเทศเขตร้อนนั้นช่วงฤดูที่ระบาดไม่แน่นอน สำหรับประเทศไทยมักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน โดยพบการติดเชื้อได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี สถานที่ที่พบการติดเชื้อได้บ่อยมักเป็นสถานที่ที่มีเด็กเล็กอยู่รวมกันจำนวนมาก
          อาการของโรค ในระยะเริ่มแรก คือ ไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง เจ็บภายในช่องปาก ต่อมาจะเริ่มมีแผลในปากและผิวหนังตามลำดับ ส่วนมากจะพบบริเวณมือและเท้าบางครั้งอาจพบบริเวณก้นเด็กได้ ลักษณะเฉพาะของแผลในปากคือ บริเวณฐานของแผลเป็นสีเหลืองและล้อมรอบด้วยวงสีแดง ส่วนมากเกิดที่บริเวณริมฝีปากหรือเยื่อบุช่องปาก แต่บางครั้งแผลอาจเกิดขึ้นบริเวณลิ้น เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล หรือเหงือกได้ โรคนี้มักไม่พบผื่นบริเวณรอบริมฝีปาก แผลในช่องปากจะมีอาการเจ็บมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีอาการป่วยได้บ่อยที่สุด
          สำหรับผื่นผิวหนังส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณหลังมือและหลังเท้า แต่บางรายอาจพบผื่นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้เช่นกัน ผื่นอาจจะคันหรือไม่ก็ได้ โดยจะเริ่มจากผื่นแดงนูน และเปลี่ยนเป็นผื่นตุ่มน้ำที่มีสีแดงอยู่บริเวณฐานอย่างรวดเร็ว ในเด็กทารกผื่นลักษณะนี้อาจเกิดบริเวณลำตัว ต้นขา และก้น ได้เช่นกัน ผื่นแดงนี้ส่วนมากจะหายได้เองภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์
          การดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น
          - ดูแลรักษาตามอาการ เช่น การเช็ดตัวลดไข้ การให้ยาลดไข้ การให้ยาตามอาการ  เช่น ยาชาป้ายแผลในปาก
          - ประเมินภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยเด็ก ประเมินได้จากอัตราการเต้นชีพจร ความยืดหยุ่นของผิวหนังความแห้งของตา ปริมาณน้ำตาขณะที่เด็กร้องไห้ความแห้งของเยื่อบุช่องปาก รวมถึงประเมินจากปริมาณและความถี่ของปัสสาวะ สังเกตอาการแทรกซ้อน
          - การติดเชื้อที่ผิวหนัง พบได้บ่อยที่สุด
          - เกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากดื่มน้อยลงจากการเจ็บแผลในช่องปาก
          - ส่วนน้อยอาจเกิดอาการแทรกซ้อนของระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิต
          หากบุตรหลานมีอาการป่วย
          ควรทำอย่างไร ? ควรแยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และรักษาตัวที่บ้านอย่างน้อย 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบพากลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ควรใช้ผ้าปิดจมูกปากขณะไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน ผู้ดูแลเด็กต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของเด็กที่ป่วยทันที เพื่อเป็นการร่วมกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค มือ เท้า ปาก
          โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 1719
          หยุด!!
          การระบาด
          โรคมือ เท้า ปาก
          โรงพยาบาลพญาไท 2 ขอเรียนเชิญคุณครู ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจเข้าฟังบรรยายเรื่อง "หยุด !!  การระบาด โรคมือ เท้า ปาก"
          ในวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2555 เวลา 09.00-11.00 น. โรงพยาบาลพญาไท 2 สอบถาม โทร. 0-2617-2444 ต่อ 3219, 3220 หรือ 1772 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
 


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved