HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 29/06/2555 ]
พลังบวกช่วย "รักให้เป็น" หยุดท้อง! ก่อนวัยอันควร

 เพื่อกระตุ้นสังคมเยาวชนไทยให้ตระหนักถึงปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น พร้อมกับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการใช้ชีวิตที่เหมาะสมให้แก่เยาวชนไทยกับ "กิจกรรม Love say yes Sex say no: คิดให้ได้ รักให้เป็น" ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ STOP TEEN MOM: หยุด! การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและร่วมกันแก้ไขปัญหาผ่านกิจกรรมมากมาย
          ล่าสุดกับการจัดประกวดแสดงความสามารถ โชว์ศักยภาพในด้านการเต้น เพื่อนำเสนอมุมมอง และความคิดเห็นในด้านการใช้ชีวิตที่เหมาะสมในฐานะที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นผ่านกิจกรรมการประกวดเต้น Cover : Love say yes Sex say no เปิดโอกาสให้เยาวชนจากภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้แสดงความสามารถสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นกับเยาวชนไทย และชี้ให้เห็นถึงปัญหาหากใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่นเอง
          ผลปรากฎว่าทีมชนะเลิศใน จ.เชียงใหม่ ได้แก่ทีม The Judge จากสถาบัน Dance Zone โดยความร่วมมือระหว่าง ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย และร.ร.พระหฤทัยเชียงใหม่ รับทุนการศึกษา 1 หมื่นบาท และถ้วยรางวัลจากโครงการ ทีมรองชนะเลิศ ได้แก่ทีม Atomic Bomb จากโรงเรียน วชิรวิทย์ฝ่ายมัธยม รับทุนการศึกษา 5,000 บาท และถ้วยรางวัลจากโครงการ ทีมรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ทีม victory จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย รับทุนการศึกษา 3,000 บาท และถ้วยรางวัลจากโครงการ
          ส่วนที่ จ.ขอนแก่น ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม EXP cover รับทุนการศึกษา 1 หมื่นบาท และถ้วยรางวัลจากโครงการ ทีมรองชนะเลิศได้แก่ ทีม favorite dance รับทุนการศึกษา 5,000 บาท และถ้วยรางวัลจากโครงการ ทีมรองชนะเลิส อันดับ 2 ได้แก่ทีม Tab-0 รับทุนการศึกษา 3,000 บาท และถ้วยรางวัลจากโครงการ         
          "นวลพรรณ ล่ำซำ" หัวหน้าคณะดำเนินการขับเคลื่อนการรณรงค์และประชาสัมพันธ์โครงการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ภายใต้โครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ กล่าวเนื่อง เชื่อว่าการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง จะลดหรือชะลอปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นของสังคมไทยให้น้อยลงที่สุดและอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 10
          ขณะที่ นพ.สุริเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การรณรงค์ที่จะได้ผลจริงต้องปลูกฝันมาจากครอบครัวและโรงเรียนจิตสำนึกที่สามารถป้องกันวัยรุ่นได้ คือจิตสำนึกในส่วนของพ่อแม่และจิตสำนึกของส่วนของครู การสร้างภูมิคุ้มกันการเรียนรู้ทักษะในการใช้ชีวิต ที่ถือเป็นเกราะป้องกันให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้องเท่าที่ควร         
          นอกจากนี้ ต้องสร้างวาระแห่งชาติด้วยพลังบวก จะเป็นการช่วยฟื้นฟูชีวิตชีวา ต้องทำควบคู่กันไปกับปัจจัยเสี่ยง จะทำให้เด็กเข้าใจได้ง่าย ด้วยการให้มีส่วนร่วมในเรื่องพลังบวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแบ่งปัน น้ำใจไมตรี เรื่องของสยามเมืองยิ้ม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณไทยที่มีมานานและพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเข้าใจได้ง่าย ก็จะสามารถนำมาสั่งสอนบุตรหลานได้ดี ดังนั้นการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องเพศ การวางตัว การเลือกคู่ครองในวัยที่เหมาะสมให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชนไทย ผู้ปกครอง พ่อแม่ ผู้ใหญ่ต้องสร้างต้นทุนชีวิตดี ๆ ให้แก่ลูกหลาน
          อ.ทรงเกียรติ จรัสสันติจิต ผู้ช่วยคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า จากการทำงานและคลุกคลีกับเยาวชน พบว่าปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาการท้องไม่พร้อม เพราะปัจจุบันวัฒนธรรมทางสังคมสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สื่อและเทคโนโลยี ข่าวสารที่ส่อไปทางยั่วยุ และล่อแหลม สามารถทำได้ง่าย ส่งผลให้เยาวชนมีพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป บางรายมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนี้จะน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเยาวชน
          ปัญหาของเพศในวัยเรียนในระดับมหาวิทยาลัยส่วนมากจะเกิดจากความสัมพันธ์กับเพื่อนและเด็กไม่ได้เข้าถึงภูมิคุ้มกันที่จะมองไปถึงอนาคต ผู้ปกครองถือว่าสำคัญมากในการเอาใจใส่ดูแลเด็กและเยาวชนเพราะถือว่าแม่เข้าใจลูกและยอมรับเรื่องที่ลูกประสบปัญหาได้ หากเกิดปัญหากับลูกของตนเองต้องให้ความรัก ส่วนหน้าที่ในฐานะอาจารย์ที่สอนนักศึกษาก็ต้องปรับทัศนคติใหม่ในการดูแลเด็กด้วย เราไมสามารถดูแลได้ตลอด 24 ชม.ก็ตาม หากเด็กเกิดปัญหาต้องให้คำปรึกษาที่ดีจนกว่าปัญหาจะสิ้นสุด
 


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved