HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 27/06/2555 ]
โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) กับโรคปากเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease) แตกต่างกัน โรคมือ เท้า ปาก นั้นเป็นโรคที่พบเฉพาะในคน และติดต่อจากคนสู่คน ส่วนโรคปากเท้าเปื่อยเกิดจากไวรัสตัวอื่น เป็นโรคติดต่อที่เกิดกับสัตว์กีบ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร เป็นต้น ทำให้สัตว์ป่วยมีอาการเป็นแผลที่ปากและกีบเท้า สัตว์ที่ป่วยมักไม่ตายหรือมีอัตราป่วยตายต่ำ ไม่จัดว่าเป็นโรคติดต่อถึงคน ผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้จากการได้รับเชื้อขณะเป็นเด็ก ซึ่งภูมิต้านทานนี้จำเพาะกับชนิดของไวรัสที่เคยได้รับเชื้อ หากได้รับเชื้อชนิดใหม่ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็สามารถเป็นโรคได้อีก ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาหารของโรคหรือมีอาการเล็กน้อย แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่เด็กหรือผู้อื่นได้
          หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก เสี่ยงติดโรคหรือไม่ ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแสดงว่าการติดเชื้อมีผลต่อการแท้งบุตร ความพิการของเด็กหรือเด็กเสียชีวิตในครรภ์ อย่างไรก็ตามเด็กอาจได้รับเชื้อขณะคลอดหากมารดาป่วยในช่วงใกล้คลอด เด็กแรกเกิดที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง การป้องกันทำได้โดยการปฏิบัติสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี
          กลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ที่รุนแรง โดยทั่วไปโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ไม่อันตราย ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยแต่ไม่มีความรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการป่วยเล็กน้อย หายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่เด็กอ่อนและเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต
          จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก และพ่อแม่จะสังเกตอาการเหล่านี้ได้อย่างไร? เด็กที่ได้รับเชื้อโรคนี้ จะมีอาการาไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 2-3 วัน เด็ก จะเริ่มเจ็บคอหรือเจ็บปากเวลาดูดนมหรือรับประทานอาหาร มีอาการน้ำลายไหล ปฏิเสธอาหารและน้ำ ถ้าให้เด็กอ้าปาก จะเริ่มเห็นมีแผลในปาก และเริ่มมีผื่นที่บริเวณมือ เท้าและก้น ในอีก 2-3 วันต่อมา เด็กๆ จะมีอาการอาเจียน ท้องร่วง ซึม ไม่วิ่งเล่นเหมือนเดิม
          หากติดเชื้อแล้วจะเริ่มแสดงอาการป่วยภายใน 3-5 วันหลังได้รับเชื้อ จะมีไข้สูงในช่วง 1-2 วันแรก และลดลงเป็นไข้ต่ำๆ อีก 2-3 วัน มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก ทำให้เจ็บปากไม่อยากรับประทานอาหาร จะเกิดผื่นแดงซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดงที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (aseptic meningitis) ก้านสมองอักเสบ (brain stem encephalitis) ตามมาด้วยปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ มีสัญญาณอันตราย ได้แก่ ไข้สูงไม่ลดลง ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ
          โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนการรับประทานอาหารหรือป้อนอาหารเด็ก และก่อนการรับประทานอาหารหรือป้อนอาหารเด็ก รวมถึงการไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย ร่วมกับการรักษาความสะอาดทั่วๆ ไป การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะ การทำลายเชื้อ หรือฆ่าเชื้อ
          เชื้อนี้จะถูกทำลายได้โดยแสงอุตราไวโอเล็ตในแสงแดด ในสภาพที่แห้ง เชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน อีกทั้งการต้มที่อุณหภูมิ 50-60 อุศาเซลเซียส นาน 30 นาที และการใช้น้ำยาซักล้างทั่วไปก็สามารถทำลายเชื้อนี้ได้เช่นเดียวกัน ส่วนคลอรีนในสระว่ายน้ำฆ่าเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ได้หรือไม่ เด็กมีโอกาสติดเชื้อโรคนี้จากสระว่ายน้ำได้ไหม ความเข้มข้นของคลอรีนในสระว่ายน้ำตามมาตรฐานต้องมีอย่างน้อย 1 มิลลิกรัมต่อลิตร [1 ppm (part per million)] ซึ่งมีปริมาณคลอรีนเพียงพอที่จะทำลายเชื้อได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรนำเด็กป่วยไปสระว่ายน้ำ และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของสระว่ายน้ำอย่างเคร่งครัด
          ความเสี่ยงต่อผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่เกิดโรคนี้ระบาด ไม่มีข้อห้ามสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่กำลัวเกิดโรคนี้ระบาดอยู่ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด รักษาสุขอนามัยที่ดี และอยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทที่ดี
          ดังนั้นการป้องกันจึงมีความสำคัญมาก เราควรจะสอนเด็กๆ ให้รู้จักวิธีปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี เช่น ให้ล้างมือให้สะอาดเมื่อออกจากห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
 


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved