HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 28/06/2562 ]
7 สัญญาณเตือน ระวังผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงจากยาเสพติด

 ปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญของชาติ ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาประเทศ และจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดยวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นวันสำคัญสากล  เพราะตามประกาศตามมติของ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ระบุว่า วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" และคำขวัญวันต่อต้านยาเสพติด 2562 ของไทย คือ "มุ่งมั่น แก้ไข ขจัดภัยยาเสพติด"
          สำหรับประเทศไทยมีการวางระบบและแบบแผน โดยกำหนดพระราชบัญญัติให้มี "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด" หรือ "ป.ป.ส." ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยดำเนินการแก้ปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับการ กวาดล้างจับกุมของตำรวจทั่วประเทศควบคู่ไปกับการให้ความรู้โทษภัยของยาเสพติดในเชิงป้องกัน นำผู้เสพเข้าสู่การบำบัด
          ด้วยเหตุนี้ กรมสุขภาพจิต จึงแนะให้คนในชุนชนใช้แนวทางการสังเกตจาก "7 สัญญาณเตือน" ในการมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง ผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงจากยาเสพติด เพื่อลดการก่อเหตุความรุนแรงในสังคม และส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม โดยสัญญาณเตือน ผู้ป่วยจิตเวชรุนแรงจากยาเสพติดที่ว่านี้ ประกอบด้วย 1.ขีดข่วน หรือกรีดตัวเองเป็นรอยแผล 2.ส่งเสียงดัง หรือตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายรุนแรง 3.ข่มขู่จะทำร้ายผู้อื่น 4.ทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ 5.พกพาหรือสะสมอาวุธโดยไม่ สมเหตุสมผล 6.รื้อ ขว้างปาข้าวของกระจัดกระจาย และ 7.ทำลายสิ่งของจนแตกหัก
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิตอธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งยาเสพติดเป็นปัญหาหลักที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ปัญหาการใช้สารเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยผู้ติดสารเสพติดจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการทางจิต มีภาวะหวาดระแวง ได้แก่ อาการหลงผิด ประสาทหลอน จนนำไปสู่พฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง มีการทำร้ายตนเอง ทำร้ายบุคคลใกล้ชิด และมักจะเห็นในข่าวปัจจุบันอยู่เป็นประจำ
          นพ.เกียรติภูมิ อธิบายว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ใช้สารเสพติดของประเทศไทยนั้น พบผู้ใช้สาร
          เสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งใน 1 ปี มีจำนวน 1.4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ใช้สารเสพติด จำนวน 1.1 ล้านคน และเป็นผู้ติดสารเสพติด จำนวน 3.2 แสนคน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบการบำบัดของกรมสุขภาพจิต จำนวน 24,196  คน เป็นผู้ป่วยจิตเวชติดสารเสพติดรุนแรง จำนวน 5,757  คน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) จำนวน 577 คน
          "นอกจากนี้ยังพบสถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรงในสังคมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 3.92 เท่า ในปี 2561 โดยผู้ป่วยยาเสพติด ที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรง จำนวน 267 ราย แบ่งเป็นชายจำนวน 259 ราย และเป็นหญิงจำนวน 7 ราย สำหรับลักษณะของการก่อความรุนแรงในสังคมพบมีการทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่นมากที่สุด จำนวน 90 คน" อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุ
          จะเห็นได้ว่าพิษภัยของยาเสพติดส่งผล กระทบมากมายขนาดไหน ถือเป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม แม้จะเป็นผู้เสพหรืออดีตเคยติดสารเสพติดก็ต้องช่วยกันสังเกต 7 สัญญาณอันตราย อย่างน้อยก็จะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น พร้อมกับนำผู้ป่วยไปบำบัดรักษา..!!
          มีปัญหาร้องเรียน "สายตรวจระวังภัย" ทีมข่าวอาชญากรรม 0-2338-3636-7 อีเมล cr_nation@hotmail.com หรือเฟซบุ๊ก สายตรวจประชาชน หรืออาชญากรรมทันข่าว


pageview  1205110    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved