HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 12/06/2562 ]
ปฏิวัติพฤติกรรมกินผักป้องกันโรค

 เรื่องการดูแลสุขภาพนับวันจะมีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ  ซึ่งผลที่ได้ก็ต่างออกไปจากหลักการเดิมๆ ดังเช่นวิถีการมีสุขภาพดีที่ "เวลเนส วีแคร์ เซ็นเตอร์" ภายใต้ความร่วมมือของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตศัลยแพทย์หัวใจมากประสบการณ์ กับบริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) โดย วิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และชีฟโค้ช เชิญชวนเหล่าคนรักสุขภาพให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต รับประทานอาหารตามหลักแพลนต์ เบส โฮล ฟู้ด ร่วมด้วยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและการรักษาด้วยการมีสติเพื่อบริหารฟื้นฟูจิตใจ ทั้งหมดมีคำตอบอยู่ในการอบรมสั้นๆ "เรียนรู้วิถีแห่งการปฏิวัติสุขภาพแนวใหม่ เพื่อการมีสุขภาพดีได้ด้วยตนเอง"ซึ่งจัดขึ้นที่รีสอร์ทแห่งสุขภาพดี เวลเนส วีแคร์ เซ็นเตอร์ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อเร็วๆ นี้
          วิเวก ดาวัน หนุ่มใหญ่เชื้อสายอินเดียที่ใช้ชีวิตและทำธุรกิจอยู่เมืองไทยมากว่า 40 ปี ให้ความเห็นต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวว่า การขยายตัวของเมืองและรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศไทยมีความตื่นตัวด้านสุขภาพมากขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพที่ดีขึ้น แนวโน้มพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้สอดคล้องกับสถิติการเสียชีวิตของคนที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เปิดเผยในที่ประชุม NCDs Forum เมื่อปี 2561 ซึ่งมีกว่า 36 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี หรือคิดเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึง 75 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 320,000 คนต่อปี โดยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดคือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดตันเรื้อรัง โรคเบาหวาน และ ความดันโลหิตสูง ตามลำดับ ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มคนทำงาน
          "แม้ปัจจุบันจะมีกีฬาหลากหลายรูปแบบที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เน้นการกระตุ้นระบบไหลเวียนของโลหิต ระบบการเผาผลาญและเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เพื่อดูแลรักษาสุขภาพ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ แต่ก็ควรทำควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วนก็จะให้ผลที่ดียิ่งขึ้น และนี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เทรนด์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพประเภทแพลนต์ เบส โฮลฟู้ด เพอร์ซัลนัลไลฟ์ไดเอทรวมถึงตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วโลกได้รับแรงขับเคลื่อน โดยมีการสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน" วิเวก กล่าว
          ด้านนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ อธิบายเรื่องการปฏิวัติพฤติกรรมเพื่อต้านโรคเรื้อรังและฝึกการใช้ดัชนี 7 ตัว เพื่อจัดการกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพด้วยตนเองว่า สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ได้สรุปข้อมูลจากงานวิจัยเท่าที่มีมาแล้วคำนวณว่าหากทำให้ดัชนีเจ็ดตัวคือ น้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล การกินผักผลไม้ การออกกำลังกาย และการไม่สูบบุหรี่ ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร(คือตายก่อนอายุ 70 ปี ) จะลดลงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ขณะที่หากตั้งใจกินยา ผ่าตัดทำบอลลูนจะลดลงได้อย่างมาก 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดัชนี 7 ตัวนี้เป็นแกนกลางที่เวลเนส วีแคร์ เซ็นเตอร์ ใช้ฝึกสอนให้ผู้ป่วยห้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังด้วยตัวเอง โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 หมวดคือ กินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ ออกกำลังกาย จัดการความเครียด และเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน และไฮไลท์ที่ถือว่าเป็นพระเอกของงานคือการส่งเสริมให้รับประทานอาหารพืชเป็นหลักชนิดมีไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ หรือ โลว์แฟต, แพลนต์ เบส, โฮล ฟู้ด
          ในส่วนของ "กินพืชเป็นหลัก" คุณหมออธิบายว่าให้กินผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว นัทเมล็ดพืชต่างๆ เป็นอาหารหลัก โดยอาจจะกินอาหารเนื้อสัตว์แต่น้อยไปจนถึงไม่กินอาหารเนื้อสัตว์เลยก็ได้ ส่วน "แบบไขมันต่ำ" หมายความว่ากินแต่อาหารไขมันในอาหารธรรมชาติ เช่น ถั่ว นัท แต่ไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหาร หรือใช้ให้น้อยที่สุด และ "ในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ" หมายถึงกินพืชในรูปแบบที่ไม่สกัดเอามาแต่แคลลอรี่หรือเอามาแต่ไขมัน แต่กินพืชทั้งหมดนั้น เช่น ทั้งเมล็ด หรือทั้งผล ในกรณีเป็นธัญพืชก็กินแบบไม่ขัดสี หรือขัดสีให้น้อยที่สุดในกรณีที่เป็นการปั่นผักหรือผลไม้ให้เป็นของเหลวดื่มก็ปั่นโดยไม่ทิ้งกาก
          "งานวิจัยทางการแพทย์พิสูจน์ได้แล้วว่าอาหารพืชเป็นหลักแบบนี้เป็นอาหารที่ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจถอยกลับได้ ลดอาการเจ็บหน้าอกลงได้ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ในหนึ่งปี ทำให้หยุดใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานได้ถึง 43 เปอร์เซ็นต์ใน 6 เดือน ลดน้ำหนักเฉลี่ยลงได้ 6.3 กก.ในหกเดือน ลดความดันเลือดเฉลี่ย 11 มม.ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และลดไขมันเลวในเลือดได้อย่างมาก" คุณหมอ กล่าวเสริม


pageview  1204937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved