HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 04/04/2555 ]
สธ.ยกระดับสารซูโดเทียบเท่ายาเสพติด!

  รมว.สาธารณสุขเซ็นยกระดับยาซูโดฯเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เทียบเท่ายาเสพติดแล้ว สธ.จับมือกรมบัญชีกลาง ตั้งกรรมการสอบข้าราชการโกงสิทธิ์รักษาพยาบาล 'ปลัดสธ.'ยอมรับสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการมีช่องว่าง แต่เป็นปัญหาตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบ จี้ทุกหน่วยเร่งป้องกัน'สบส.'เผยพบคนกลางอ้างชื่อร.พ.นวมินทร์1 สั่งซื้อซูโดฯ 9 แสนเม็ด ก่อนกระจายให้ร้านขายยา 70 แห่ง เล็งส่งหลักฐานให้'อย.ดีเอสไอ'ฟัน
          เมื่อเวลา13.30 น. วันที่ 3 เม.ย. นายวิทยาบุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการควบคุมยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนว่า ล่าสุดลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ ได้แก่1.เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์(เพิ่มเติม) โดยมีสาระกำหนดให้ซูโดฯ เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ 2 เรื่องกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือ ประเภท 2 พ.ศ.2555 โดยผู้ที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข เว้นแต่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตมีซูโดฯ ไว้ครอบครอง มีความผิดตามมาตรา 106 พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จะต้องระวางโทษจำคุก 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-1แสนบาท แต่หากคำนวณปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วมีปริมาณเกิน5,000 กรัม ต้องระวางโทษตามมาตรา 106 ทวิจำคุก 5-20 ปีและปรับ 1-4 แสนบาท
          น.พ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน ร้านขายยาและคลินิกที่ยังมียาสูตรผสมซูโดฯ ทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่สูตรผสมพาราเซตามอลซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้จำหน่ายในร้านขายยาได้ จะต้องส่งคืนยาทั้งหมดให้กับบริษัทผู้ผลิต และนับจากนี้ไปผู้ที่จะใช้ยาสูตรผสมซูโดฯ ทุกสูตรต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เท่านั้นโดยในวันที่ 4 เม.ย. อย.จะประชุมชี้แจงผู้ผลิตยาสูตรผสมซูโดฯ ทั้งหมด
          ด้านน.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และกรมบัญชีกลางเปิดโปงการโกงสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวว่า ระบบการใช้สิทธิรักษาของข้าราชการถือเป็นระบบที่ได้รับสิทธิมากกว่าระบบประกันสุขภาพระบบอื่นเนื่องจากข้าราชการมีเงินเดือนน้อย รัฐจึงจัดสรรให้สิทธิรักษาพยาบาลเพื่อจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบซึ่งการควบคุมวิธีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น จะถูกควบคุมด้วยระเบียบของกรมบัญชีกลาง โดยในส่วนของโรงพยาบาลจะมีระบบคณะกรรมการบริหารยาและเวชภัณฑ์ประจำโรงพยาบาล เพื่อทำหน้าที่พิจารณาการใช้ยาให้สมเหตุสมผล ซึ่งที่ผ่านมาระเบียบราชการกำหนดให้ข้าราชการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนและนำเบิกภายหลัง ต่อมากรมบัญชีกลางยกเลิกระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ข้าราชการ แต่ทำให้เกิดช่องว่างของระเบียบขึ้นและมีปัญหาตามมา
          "ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นช่องว่างของระเบียบปฏิบัติ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเบิกจ่ายอย่างไม่เหมาะสม แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคลไม่ใช่ระบบใหญ่ เนื่องจากข้าราชการบางกลุ่มจะขอยาล่วงหน้าหลายเดือน เพราะไม่อยากเดินทางมาพบแพทย์บ่อยๆ ทำให้เกิดการใช้ยามากเกินความจำเป็น ซึ่งการแก้ปัญหาจำเป็นที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างระบบป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น" ปลัดสธ.กล่าว
          แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการชุดกำหนดราคาอ้างอิงสำหรับยานอกบัญชียาหลัก โดยหลักจะมี อย. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และกรมบัญชีกลางดูแลเรื่องนี้เพื่อให้มีระบบราคาอ้างอิงสำหรับระบบประกันสุขภาพของไทย และให้การสั่งซื้อยามีราคามาตรฐานที่จะใช้อ้างอิง ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณในการสั่งซื้อยาลงนอกจากนี้ พบว่าปัญหาการเบิกจ่ายยายังมาจากข้อบ่งชี้ที่ไม่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาลดไขมัน เดิมทีจะสั่งจ่ายยาต่อเมื่อพบปริมาณไขมันในเส้นเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัม แต่ปัจจุบันพบว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบไขมันในเส้นเลือดเกิน230 ก็สั่งจ่ายยาทันที ทั้งที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดจากบริษัทยาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ค่าตอบแทนแพทย์ หากมีการสั่งจ่ายยาของบริษัทตัวเอง เรื่องนี้กำลังจะมีการปรับปรุงระบบให้มีการควบคุมยาแห่งชาติ ส่วนรายละเอียดคาดว่าจะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
          แหล่งข่าวระบุอีกว่า ที่ผ่านมาจากระบบการตรวจสอบการใช้ยาในส่วนของสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เคยมีโรงพยาบาลถูกตรวจสอบและพบความผิดปกติในการใช้ยาเกินความจำเป็นซึ่งดีเอสไอเคยเข้าตรวจสอบที่ ร.พ.พระนั่งเกล้าโดยอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานและยังไม่แล้วเสร็จ
          ขณะที่น.พ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณียาสูตรผสมซูโดฯ ของหลายโรงพยาบาลสูญหายว่า สำหรับการตรวจสอบ ร.พ.นวมินทร์1 และ 9 หลังมีซูโดฯบางส่วนหายไป พบความผิดปกติเรื่องระบบการสั่งจ่ายยาในร.พ.นวมินทร์1 ที่การซื้อยาต้องผ่านคนกลาง โดยร.พ.นวมินทร์1 จดทะเบียนบริษัทในชื่อบริษัท มีนบุรี เวชกิจซึ่งมีคนกลางเป็นบริษัทเครือญาติกันเป็นผู้สั่งซื้อยาจากบริษัทยา เข้าบริษัท มีนบุรี เวชกิจ จากนั้นเมื่อปลายปี2553 บริษัท มีนบุรี เวชกิจ ยกเลิกไม่ให้มีคนกลางสั่งซื้อแทน แต่จากการตรวจสอบพบคนกลางดังกล่าวยังใช้ชื่อบริษัทมีนบุรี เวชกิจสั่งซื้อยา เพื่อนำไปกระจายต่อให้ร้านขายยา70 แห่ง โดยในปี 2554 พบสั่งซื้อยาสูตรผสมซูโดฯ19 ครั้ง รวม 922,000 เม็ด ส่วนบริษัท มีนบุรีเวชกิจ ที่ซื้อยาเข้าร.พ.นวมินทร์ 1 มียอดสั่งซื้อยาสูตรผสมซูโดฯ เพียง 300,000 เม็ด โดยตรวจสอบแล้วพบเป็นยอดที่รายงานถูกต้อง ส่วนร.พ.นวมินทร์ 9 มียอดสั่งซื้อยาสูตรผสมซูโดฯ350,000 เม็ด และมีหลักฐานการรายงานถูกต้องถือว่าไม่ผิดปกติใดๆ
          "หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ อย.ที่จะหาหลักฐานการสั่งจ่ายยาสูตรผสมซูโดฯ ให้กับร้านขายยาว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ส่วนฐานความผิดเป็นไปตามพ.ร.บ.ยา เนื่องจากยาสูตรผสมซูโดฯยกเลิกไม่ให้ขายในร้านขายยาและส่งเรื่องดังกล่าวให้ดีเอสไอตรวจสอบแล้ว" น.พ.สมชัยกล่าว
          น.พ.สมชัยกล่าวว่า จากการตรวจสอบยังพบอีกว่า คนกลางสั่งยาจาก 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทโอสถอินเตอร์ จำกัด 412,500 เม็ด หจก.บี.เอ็ม.ฟาร์มาซี 210,000 เม็ด บริษัทวีแอนด์วี 2 แสนเม็ด และบริษัทโปลิฟาร์ม จำกัด 1 แสนเม็ด โดยสั่งซื้อยารวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ก่อนนำไปกระจายต่อให้ร้านขายยา 70 แห่ง จากนี้ สบส.จะส่งมอบหลักฐานจากการตรวจสอบให้กับอย. เพื่อพิจารณาความผิดร้านขายยาที่รับซื้อยาต่อจากคนกลางรายนี้และส่งให้ดีเอสไอดำเนินการสอบสวนเชิงลึกต่อไปว่าโรงพยาบาลมีส่วนรู้เห็นหรือไม่
          น.พ.สมชัยกล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน และคลินิก 300 กว่าแห่ง ขณะนี้พบมีความผิดปกติและต้องเข้าไปตรวจสอบในโรงพยาบาล 4 แห่ง คลินิก 5 แห่ง ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด โดยพบยอดสั่งซื้อที่ผิดปกติ เพราะเป็นสถานพยาบาลขนาดเล็กแต่มียอดการสั่งซื้อปีละ 300,000-400,000 เม็ดส่วนร.พ.สยามราษฎร์เชียงใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับขวดยาสูตรผสมซูโดฯ ถูกทิ้งทำลาย 250,000 ขวดนั้น เบื้องต้นคาดว่าเป็นการสั่งซื้อโดยใช้ชื่อโรงพยาบาล แต่ไม่ได้นำยาเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและจังหวัดกำลังเร่งประสานงานเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดแล้ว
          วันเดียวกัน นายธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ โฆษกคณะทำงานป้องกันและปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่คณะทำงานตรวจสอบพบร้านขายยาและคลินิกเอกชนใน จ.ลพบุรี แจ้งข้อมูลเท็จในการสั่งซื้อยาสูตรผสมซูโดฯ โดยทั้ง 2 แห่งอ้างมียาอยู่เพียง 36,000 เม็ด แต่เมื่อตรวจสอบในส่วนของคลินิกพบมียาในสต๊อกมากกว่า 200,000 เม็ดขณะที่ร้านขายยามีอยู่ 47,000 เม็ด จึงประสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ตรวจสอบพบมียาตามที่คณะทำงานรับข้อมูลมาจริง จึงตรวจยึดและอายัดยาแล้ว พร้อมส่งข้อมูลให้ดีเอสไอตรวจสอบว่ามีการนำยาส่งต่อไปยังเครือข่ายใดบ้าง
          ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดียักยอกยาสูตรผสมซูโดฯว่าขณะนี้ดีเอสไอประสานให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร่วมตรวจสอบเม็ดยาสูตรผสมซูโดฯ ที่ตรวจพบใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่และอีกหลายพื้นที่แล้ว โดยให้เก็บข้อมูลและหลักฐานอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็น ลายนิ้วมือแฝงที่ติดอยู่บนฟอยล์ยา เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับผู้ต้องสงสัย และเก็บดีเอ็นเอ โดยเฉพาะร.พ.ศูนย์ อุดรธานีที่มียาถูกลักลอบนำออกจากระบบมาก ถึง 7 ล้านเม็ด ซึ่งดีเอสไอส่งพนักงานสอบสวน ร่วมกับ อย. และสบส. เข้าตรวจสอบการเบิกจ่ายยาสูตรผสมซูโดฯ ของโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกอีก 8 แห่ง ซึ่งจะทยอยเข้าดำเนินการต่อไป
          ที่เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่ายาซูโดฯ ทั้งสูตรผสมและสูตรเดี่ยวไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในประเทศไทย เพราะโรคหวัดสามารถหายได้โดยไม่ต้องพึ่งพายา หรือใช้ยาเฟนิลเอฟรินแทนได้ เพราะประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช้ยานี้แล้วรวมทั้งกุมารแพทย์ในประเทศไทยก็แทบจะไม่ใช้ยาสูตรซูโดฯ เช่นกัน
          ด้าน ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการสอบสวน สภาเภสัชกรรม กล่าวว่า คณะอนุกรรมการจริยธรรมของสภาเภสัชฯ จะไม่ปล่อยเรื่องนี้โดยเตรียมนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการ เพื่อพิจารณาโทษสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาตกับเภสัชกรที่เข้าไปเกี่ยวข้อง
          ที่จ.เชียงใหม่ พ.ต.อ.พิศูทธิ์ น้อยปักษาผกก.สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวแทนของร.พ.สยามราษฎร์ เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก ว่าถูกพนักงานของโรงพยาบาลฝ่ายธุรการแอบสั่งยาสูตรผสมซูโดฯ ในนามของโรงพยาบาล โดยสั่งยารวม 1 แสนเม็ด จึงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับพนักงานคนดังกล่าว
          พล.ต.ต.ชำนาญ รวดเร็ว รองผบช.ภาค 5 กล่าวว่า ในส่วนของ ร.พ.สยามราษฎร์นั้น เมื่อโรงพยาบาลเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเจ้าหน้าที่จะสอบปากคำและส่งสำนวนทั้งหมดให้ดีเอสไอ เพื่อรับไปดำเนินการต่อไป
          ที่จ.แม่ฮ่องสอน น.พ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอนตรวจสอบยาสูตรผสมซูโดฯ ตามโรงพยาบาล ร้านขายยาและคลินิกในพื้นที่ ตั้งแต่เดือนก.พ.จนถึงปัจจุบันพบมีโรงพยาบาล 2 แห่งที่ใช้ยาดังกล่าว ได้แก่ร.พ.ศรีสังวาลย์แม่ฮ่องสอน และร.พ.แม่สะเรียงมียาสูตรผสมซูโดฯ แห่งละ 80,000 เม็ดส่วนโรงพยาบาลอื่นไม่มียาดังกล่าวไว้
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบย้อนหลังไปเมื่อวันที่21 ม.ค.ที่ผ่านมา พบบริษัทยาแห่งหนึ่งในจ.เชียงใหม่ จัดส่งออกยาเวชภัณฑ์ไปประเทศพม่า ผ่านบ้านแม่สามแลบ รวมน้ำหนักกว่า 2 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้อาจมียาสูตรผสมซูโดฯ รวมอยู่ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะของมีจำนวนมาก และส่งผ่านไปประเทศพม่าแล้ว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ป.ป.ส.ได้มาสอบถามข้อมูลการส่งออกยาดังกล่าวด้วย


pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved