HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 29/02/2555 ]
เปิดเวทีโลกถกคุมเหล้า ไทยเจ้าภาพ-ผนึก 59 ชาติ
 
          เมธาวี มัชฌันติกะ
          การแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัญหา อื่นๆเพราะแต่ละปีมีผู้คนเสียชีวิตจากโรค อุบัติเหตุ ความรุนแรง ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุไม่น้อย
          ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มีประชากรทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก  เฉลี่ยดื่มคนละ 6.13 ลิตร ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในประชากรทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามากกว่า 60 โรค เช่น เป็นสาเหตุเกิดโรคตับแข็งสูงถึงร้อยละ 20-50 โรคติดต่อที่สำคัญ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ วัณโรค รวมทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน โรคหัวใจ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการดื่มปีละ2,500,000 คน
          ล่าสุดประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก (Global Alcohol Policy Conference : GAPC) ภายใต้หัวข้อ "จากแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกสู่การปฏิบัติระดับชาติและท้องถิ่น" ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของโลกที่ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การอนามัยโลก เครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
          มีนักวิชาการ ตัว แทนภาคประชาชน ภาคสาธารณสุข ภาครัฐ นักรณรงค์ และสื่อมวลชนจาก59 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน และแบ่งแยกหัวข้อการประชุม เปิดโอกาสให้คนทำงานจากทั่วทุกมุมโลกได้แลกเปลี่ยนความรู้ เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และนำไปสู่การร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อให้การดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์โลกในการจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
          หลังจากประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน ที่ประชุมประกาศเจตนารมณ์ โดยแบ่งความสำคัญของการดำเนินนโยบายเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายต่อในประเทศต่างๆคือ
          1. สนับสนุน สร้างความเข้มแข็ง และผสมผสานมาตรการที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในยุทธศาสตร์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่มีประสิทธิผลของความคุ้มค่า และควรผนวกเข้าไปในกระบวนการวางแผนทางด้านสาธารณสุขและนโยบายการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ
          2. สนับสนุนด้านทรัพยากรที่เพียงพอและยั่งยืน ผ่านช่องทางทางการเงิน รวมถึงการขึ้นภาษี หรือ การเก็บเงินพิเศษสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และแบ่งรายได้ที่จัดเก็บได้ให้แก่แผนงานรณรงค์เพื่อลดอันตรายที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
          3. ส่งเสริมให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาครัฐ เพื่อก่อให้เกิดนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผล และ 4. พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ทั้งสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และความเข้มแข็งของนโยบาย
          นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดประเด็นเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติ เช่น การจัดสรรงบประมาณ การร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ การพัฒนาระบบจัดการปัญหา และการขับเคลื่อนทางสังคมในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงการประชุมว่า ครั้งนี้เป็นเวทีคู่ขนานกับเวทีสมัชชาโลก ซึ่ง GAPC เป็นการเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการ NGO มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทั่วโลกจะจริงจังในการร่วมหายุทธศาสตร์เกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คล้ายกับการวางยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหายาสูบที่มีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ร่วมกันวางยุทธศาสตร์นำไปสู่การแก้ปัญหาในช่วงหลาย 10 ปี ที่ผ่านมา
          "แม้ว่าประเทศไทยจะมีการทำงานที่เข้มแข็ง ในการวางยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันการบริโภคแอลกอฮอล์แต่ปัจจุบันโลกแคบลงมีการเชื่อมโยงและทำให้ผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันได้การวางแผนยุทธศาสตร์ในระดับโลก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันผลักดันให้ทุกฝ่ายรู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว" ดร.สุปรีดากล่าว
          ดร.วลาดิเมีย ตัวแทนจากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ถือเป็นความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดพลังนำไปสู่การทำงานต่อในประเทศต่างๆ ซึ่งการที่ภาคประชาชน นักวิชาการ เห็นความสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นพลังที่นำไปสู่การผลักดันนโยบายต่างๆ ต่อภาครัฐให้หันมาเห็นความสำคัญและทำงานให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และยุทธศาสตร์ที่ทุกฝ่ายร่วมกันนำเสนอจะทำให้เกิดการกระตุ้นความสนใจจากเวทีอื่นๆเช่น สมัชชาองค์การอนามัยโลกได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างเครื่องมือให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
          ถือเป็นการเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นระบบ

pageview  1204853    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved