HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 09/02/2555 ]
เขื่อนเร่งระบายกรุงเก่าเริ่มท่วม
          'กรุงเก่า'วุ่น น้ำทะลักแม่น้ำน้อย เริ่มท่วมแล้ว 20 ซ.ม. ชาวบ้านแห่เก็บของหนีโวยเขื่อนระบายน้ำมากเกิน 'ปู'ถกครม.เตรียมความพร้อมทัวร์ดูเส้นทางน้ำ 13-17 ก.พ. ย้ำจ่ายชดเชยพื้นที่แก้มลิง 'กิตติรัตน์'เผยตั้ง'พยุงศักดิ์' นั่งประธานกองทุนประกันภัย ทุ่ม 4 พันล้านสร้างเขื่อนป้อง7 นิคมอุตฯ ครม.อนุมัติตั้งกนอช. ดูแลน้ำยามวิกฤต ให้นายกฯเป็นประธาน
          'ปู'ย้ำชดเชยพื้นที่รับน้ำแน่
          เวลา 13.30 น. วันที่ 7 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมครม.ให้ความเห็นชอบแผนการเดินสายลงพื้นที่ เพื่อติดตามแผนบริหารจัดการน้ำ ระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ. แล้ว โดยจะเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย และลงพื้นที่เพื่อรับรู้รายละเอียดข้อเท็จจริง โดยจะมีครม.ส่วนหนึ่งลงพื้นที่ล่วงหน้าเพื่อเตรียมงานและอีกส่วนหนึ่งจะติดตามคณะไป
          สำหรับมาตรการจ่ายเงินชดเชยสำหรับพื้นที่ทำแก้มลิง นายกฯ กล่าวว่า วางกรอบไว้แล้วทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตก แต่ที่อยากทราบชัดเจนคือแผนที่ ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)กำหนด กับพื้นที่จริง โดยจะเลือกพื้นที่ที่กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ส่วนเรื่องค่าชดเชย จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง แต่ยืนยันว่ามีมาตรการดูแลชดเชยแน่นอน และจะค่อยๆ ชี้แจงเป็นเรื่องๆไป ในขณะลงไปทำงานในพื้นที่ และจะเอาแผนไปคุยกันในแต่ละจังหวัดเลย
          เมื่อถามว่าต้องเจรจากับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่แก้มลิงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า บางพื้นที่ชาวบ้านทราบอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมประจำ โดยจะเลือกพื้นที่ลุ่ม และไม่กระทบกับบ้านเรือนมาก แต่ยังจะไม่ประกาศพื้นที่ เพราะต้องการคุยกับประชาชนให้เข้าใจก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเข้าใจผิด และเกิดผลกระทบได้ แต่ยืนยันว่ามีแผนทั้งหมดแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าปัญหาความไม่เข้าใจอาจจะมีได้
          เวลา 14.00 น. นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่านายกฯ แจ้งครม.เรื่องการเดินทางลงพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำ โดยขอร้องรัฐมนตรีว่าไม่ต้องการให้ขบวนใหญ่โตมากเกินไป จึงขอให้รัฐมนตรีไม่ต้องนำผู้ติดตามไปมาก
          ครม.อนุมัติ'กนอช.'
          นางฐิติมากล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ โดยให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เป็นที่ปรึกษามีหน้าที่กำหนดนโยบายการจัดทำแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติ
          นอกจากนี้ ยังให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยตามนโยบายของกนอช. พร้อมทั้งกำหนดวิธีดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยเป็นไปโดยเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ รวมทั้งดำเนินการอื่นเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย พร้อมทั้งให้มีสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) เป็นหน่วยงานภายในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของกนอช.และสบน.
          "ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำจำนวน16 หน่วยงาน เป็นการทำงานที่กระจายเกินไปจึงต้องมีการรวมศูนย์ให้เกิดการทำงานที่เป็นเอกภาพทั้งระบบ โดยการตั้งองค์กรมาบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ในรูปของกนอช." นางฐิติมากล่าว
          เร่งขุด 43 คลองกรุง
          นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.รับทราบการแบ่งงานขุดคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้ความรับผิดชอบระหว่างกทม. และ 9 กระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กทม.โดยจะขุดคลองในพื้นที่ทั้งสิ้น 43 คลอง 48 รายการ ดังนี้ 1.การแบ่งงานขุดคลองหลัก 29 แห่ง ทางกทม.รับผิดชอบ 19 คลอง กระทรวงกลาโหม 5 คลอง กระทรวงมหาดไทย 1 คลองกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1 คลอง กระทรวงสาธารณสุข 2 คลองกระทรวงแรงงาน 1 คลอง
          2.การขุดคลองเพิ่มเติม 14 แห่ง และขยายความยาวของการขุดคลองหลักเดิม 5 คลอง รวม19 รายการ ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ 2 คลอง กระทรวงกลาโหม 10 คลอง กระทรวงมหาดไทย 1 คลอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 คลอง กระทรวงคมนาคม1 คลอง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 คลองทั้งนี้ เลขาธิการ ก.พ.ร. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (กบภ.) ทำหน้าที่ประสานและติดตามการดำเนินงานและรายละเอียดให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
          นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ ระบุว่าในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ขอให้ผอ.สำนักงบประมาณแจ้งตัวเลขของแต่ละกระทรวง ว่าได้ใช้งบฯ ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว และยังเหลืองบฯ ในการใช้จ่ายอีกเท่าไร โดยรัฐมนตรีสามารถประสานกับปลัดกระทรวงเพื่อดูในรายละเอียดของกระทรวงตัวเองและกระทรวงอื่นๆ ได้
          สั่งแจงรายละเอียดงบฯฟื้นฟู
          นายอนุสรณ์กล่าวว่า นายนิวัฒน์ธำรงค์ บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ขอให้ผู้ที่รับผิดชอบในโครงการฟื้นฟูต่างๆ รวบรวมรายละเอียดของโครงการที่ครม.อนุมัติงบฯไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ให้ชัดเจนเนื่องจากขณะนี้มีความชัดเจนการใช้งบฯ เพียง7 หมื่นล้านบาท ส่วน 4 หมื่นล้านบาท ยังไม่ชัดเจน จึงต้องเร่งดำเนินการ เช่นเดียวกันการเบิกจ่ายงบฯ เยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาทในพื้นที่กทม. และต่างจังหวัด ซึ่งมีการจ่ายไปเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงต้องมีรายละเอียดต่างๆ เพื่ออธิบายและตอบข้อซักถามของประชาชนให้ได้
          นายอนุสรณ์กล่าวว่า นายกฯ ยังขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนการของบประมาณ4 โครงการ วงเงิน 3,426.35 ล้านบาท และโครงการและอนุมัติจัดสรรเงินกู้ดีพีแอล วงเงิน1,821.88 ล้านบาท ของกระทรวงคมนาคม โดยให้โยกงบฯ นี้ไปจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่น้ำท่วมก่อน และเมื่องบประมาณครั้งหน้าจึงนำไปจัดซื้อให้โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลตำบล
          ตั้งพยุงศักดิ์ปธ.ประกันภัย
          นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบในร่างหลักเกณฑ์การดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา19 ของพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ และมีมติแต่งตั้งนายพยุงศักดิ์ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ด้านภัยพิบัติ กฎหมายการเงิน และบริหารธุรกิจ คือนายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล กรรมการ กยน. นายเสรี จินตนเสรีประธานบริษัทเสรี มานพ แอนด์ ดอล์ย นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ว่าที่ประธานหอการค้า มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน จากนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะเสนอหลักเกณฑ์ต่างๆ ของกองทุนฯ ต่อครม.
          นายกิตติรัตน์กล่าวว่า สำหรับการระดมทุนก็มีทางเลือกให้คณะกรรมการฯ หลายแนวทางเช่น จากธนาคารของรัฐซึ่งพร้อมให้กองทุนกู้การออกพันธบัตรให้สถาบันการเงิน หรือขนาดของกองทุนฯ ขนาด 5 หมื่นล้านบาทก็ใหญ่พอที่จะออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อออกขายประชาชน เชื่อว่าเงิน 5 หมื่นล้านบาทน่าจะเพียงพอที่จะดำเนินการ และมั่นใจว่ามีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงใดๆ ในทุกกรณีที่จะเกิดขึ้น
          เมื่อถามว่าทำไมไม่รับตำแหน่งประธานกองทุนเอง นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เกรงว่าขาดการถ่วงดุล และไปชี้นำหรือชักนำมากไป หน้าที่ตนอยู่ในครม. มีหน้าที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจอยู่แล้ว มีสิทธิ์ที่จะให้ความคิดเห็นในเชิงนโยบายอยู่แล้ว
          ให้ 4 พันล.สร้างเขื่อนกั้นนิคม
          นายกิตติรัตน์กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้เงินกองทุนประกันภัยพิบัติไปใช้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง โดยจะให้เงินกองทุน 2 ใน 3 ของงบที่ต้องใช้ ถือเป็นการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากน้ำท่วม ยอมรับว่าจะถูกวิจารณ์ว่าเอาเงินไปสร้างเขื่อนให้เอกชนแต่อยากให้มองว่าหากไม่ทำแล้วอะไรจะเกิดขึ้น
          ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการกองทุนประกันภัยพิบัติกล่าวว่าตามกฎหมายของกองทุนสามารถนำเงินไปให้นิคมสร้างเขื่อนได้ ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทางลดความเสี่ยงของกองทุนประกัน นอกเหนือจากไปทำประกันภัยต่อในต่างประเทศ ในญี่ปุ่น รัฐบาลก็ให้เงินให้เปล่ากับเอกชนไปใช้ป้องกันภัยพิบัติถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะนำมาใช้ในไทย และไทยก็ไม่ได้ให้ทั้งหมด เพียงแต่ช่วยบางส่วนเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ ทั้งนี้ ประเมินว่านิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมทั้ง 7 แห่งต้องใช้เงินก่อสร้างเขื่อนประมาณ 6,000 ล้านบาท เมื่อรัฐบาลต้องเข้าไปช่วย 2 ใน 3 ก็ตกอยู่ที่ประมาณ4,000 ล้านบาท ที่เหลือ 2,000 ล้านบาทเอกชนต้องไปกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน ซึ่งแนวทางในการให้เงินช่วยเหลือและในเรื่องที่ดินที่ต้องโอนไปให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) นั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังหารือกับภาคเอกชน คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้
          ปชป.เตือนระวังน้ำเขื่อน
          ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคแถลงว่า กรณีรัฐบาลกล่าวหาฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ทำให้การช่วยประชาชนล่าช้า เป็นการโกหกคำโต อยากให้ชี้มาว่าโครงการไหนบ้างหากพ.ร.ก.กู้เงินช้าไป 1-2 สัปดาห์แล้วจะเดินหน้าไม่ได้ สำหรับนายกิตติรัตน์ที่ให้สัมภาษณ์ว่ากยน.ตัดสินใจสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่มีผู้ใหญ่กำชับให้กรรมการอย่าแพร่งพราย ถือเป็นทัศนคติผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่จงใจปิดบังประชาชน ขอชื่นชมนายกิตติรัตน์ที่ตัดสินใจออกมาชนกับเอ็นจีโอด้วยตัวเอง
          นายชวนนท์กล่าวว่า ขอเตือนรัฐบาลว่าขณะนี้ปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำอยู่ที่6 หมื่นล้านลบ.ม. เฉลี่ยร้อยละ 86 ซึ่งถือว่าอันตรายมาก สุ่มเสี่ยงต่อมหาอุทกภัยอีก ถ้ามีพายุเข้ามา 2-3 ลูก สถานการณ์จะไม่ต่างกันนายกฯ ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว
          'อยุธยา'โวยท่วมแล้ว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ในเขตจ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำมีระดับเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมากเนื่องจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เร่งปล่อยน้ำเหนือเขื่อน โดยในเขต อ.เสนา บางจุดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนในหลายตำบลที่ตั้งบ้านเรือนติดริมแม่น้ำน้อย
          ที่ ม.9 ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา นายชัย ทิพย์เกสร อายุ 54 ปี ชาวบ้านต้องเร่งช่วยเพื่อนบ้านและเก็บของใต้ถุนบ้านตนเองที่ปลูกติดริมแม่น้ำน้อย เพราะน้ำได้ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมใต้ถุนบ้านสูงกว่า 20 ซ.ม.แล้วและเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน
          นายชัยกล่าวว่า น้ำท่วมหน้าร้อนทำให้ตนงงมาก น้ำเพิ่งจะแห้งไปเมื่อตอนปลายปี ธรรมดาหากน้ำจะท่วมก็ต้องเป็นกลางจนถึงปลายฤดูฝนหากท่วมหน้าร้อนแบบนี้พวกตนเองไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องปลูกอะไรกินแล้ว ลำบากมากเพราะน้ำท่วมเพิ่งจะแห้งไปได้เดือนสองเดือนเท่านั้นก็กลับมาท่วมอีกแล้ว ทั้งนี้ทราบข่าวว่าเขื่อนเร่งปล่อยน้ำ แต่ก็อยากให้ปล่อยน้ำแบบคิดและคำนึงถึงคนท้ายน้ำบ้าง กลัวว่าต่อไปบ้านของพวกตนจะท่วมทุกปีและจะเดือดร้อนมาก เพราะยังมีเรื่องที่ว่าจะให้เป็นพื้นที่รับน้ำอีก

pageview  1205114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved