HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 07/02/2556 ]
ผนึกกำลังสร้างสุขภาวะ เพื่อ "เด็กไทย" เติบโตอย่างมีคุณภาพ

เหตุการณ์ต่างๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ในระยะหลัง ทั้งปัญหายาเสพติด เด็กติดเกม และท้องในวัยเรียน ตลอดจนข้อมูลปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันที่ สูงนับแสนคนต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยในปัจจุบันต้องการได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังและเป็นระบบ
          จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือ "การดำเนินการ ด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชน" ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผลักดันการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) และหน่วยงานในสังกัด กับ สสส. และภาคี เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิต ป้องกันการเกิดปัญหาเด็กและเยาวชนจากต้นทาง
          นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เล่าถึง การดำเนินงานครั้งนี้ว่า มี 5 แนวทาง ได้แก่ 1.พัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนอนุบาลเอกชน 2.พัฒนาระบบการเรียนรู้แบบบูรณาการ 3.ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แก้ปัญหาเรื่องเด็กติดเกม ส่งเสริมให้เขาสนุกกับการเรียน อย่างสร้างสรรค์ 4.การสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการอ่านของคนในชุมชน ผ่านบ้านหนังสืออัจฉริยะ ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่มีอยู่ 40,000 แห่งทั่วประเทศ 5.โครงการผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา สร้างบุคลากร ที่มีอยู่ให้เป็นกำลังสำคัญในการทำงานด้านพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง
          "เด็กจะเริ่มมีบุคลิกภาพความเป็นตัวเอง เมื่ออายุประมาณ 2-3 ขวบ เป็นช่วงที่พ่อแม่พาเข้าไปเรียนระดับปฐมวัย จึงต้องเตรียมความพร้อมของโรงเรียนอนุบาลเอกชนให้มีมาตรฐาน มีระบบการบริหารจัดการ สถานที่พร้อมและเหมาะสมกับวัย เมื่อเด็กโตขึ้นก็ควรต้องพัฒนาระบบการเรียนรู้แบบบูรณาการเน้นเรื่องทักษะชีวิต เพราะเด็กบางคนไม่มีโอกาสใกล้ชิดกับพ่อแม่ เวลาที่มีปัญหาก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร เมื่อปรึกษากันเอง จึงเสี่ยงที่การแก้ไขปัญหาอาจดำเนินการแบบผิดๆ เพราะว่า 'ไม่รู้' เท่าๆกัน การเน้นให้รู้ทักษะการใช้ชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้" ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
          ด้าน ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ 30 มกราคม 2556 30 มกราคม 2558 ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายที่ตอบรับแล้วกว่า 10 ภาคี ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน มีความสำคัญและจำเป็นมากที่ต้องกลับมาแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่จะทำอย่างไรที่จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพภายใต้บริบทของสังคมที่มีสิ่ง ยั่วยุมากขึ้นทุกวัน
          "เมื่อหลายเดือนก่อน ผมมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านที่กาญจนาภิเษก พบว่า 90% เป็นเด็กที่เคยเรียนอยู่ในโรงเรียนตามปกติ แต่มาวันหนึ่งเรียนสู้เพื่อนไม่ได้ เลยไม่มีความสุขกับการเรียน แล้วหันไปหาความสุขด้านอื่น ตรงนี้จึงต้องกลับมาคิดว่า เราจะทำให้เด็กๆ เหล่านี้มีความสุขเล็กๆกับสิ่งที่มีหรือเป็นอยู่ได้อย่างไร รวมทั้งทำอย่างไรเขาถึงจะสร้างสมดุลในชีวิตเป็นได้อย่าง เหมาะสม"ผู้จัดการ สสส. กล่าว
          ผู้จัดการ สสส. กล่าวอีกว่า การทำงานครั้งนี้มีกลไกสำคัญ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.การจัดประชุมผู้บริหาร (Executive Meeting) ทุก 3 หรือ 6 เดือน ระหว่างผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด โดยหากโครงการใด มีอุปสรรคหรือปัญหาจะได้ช่วยกันแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การทำงานครั้งนี้เคลื่อนที่ต่อไปได้อย่างไม่สะดุด 2.การจัดการร่วมกัน (Co-Management Program) อาศัยความร่วมมือทั้งจากภาคเอกชนและรัฐ จับมือกันสร้างกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพว่าจะออกแบบการเรียนรู้และสร้างสื่อสร้างสรรค์ได้อย่างไร และ 3.พัฒนาผู้บริหารรุ่นใหม่ (Leadership Program) เพื่อการพัฒนาการดำเนินงานที่เห็นผลอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง การร่วมกันทำงานครั้งนี้ จึงน่าจะเรียกได้ว่า เป็นการทำงานแบบใจต่อใจใกล้ชิดกัน ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อระบบการศึกษาไทยอย่างแน่นอน"
          มีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า "เด็ก" คือผ้าขาวบริสุทธิ์ ถ้าเราอยากให้เขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต สิ่งสำคัญจึงขึ้นอยู่กับการแต่งแต้มสีสันของ "ผู้ใหญ่" ทุกภาคส่วนในวันนี้
 


pageview  1206111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved