HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 29/01/2556 ]
ปฏิบัติการวัยซน อ่อนหวานต้านโรค

ด้วยสีสันของขนม ลูกอม น้ำอัดลม รสหวานที่ถูกปาก จูงใจและดึงดูดให้เด็กวัยใสน้องหนูวัยซนชอบบริโภค โดยลืมที่จะระมัดระวังภัยที่มาพร้อมกับความหวาน
          สถานการณ์การบริโภคน้ำตาล ปี 2554 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็น โดยทุกช่วงวัยบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานมากกว่าเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ในรอบ 10 ปี
          และยังพบด้วยว่าสาเหตุของปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการดื่มน้ำหวานน้ำอัดลมเฉลี่ยถึงวันละ 300-400 ซีซี ขณะที่เด็กๆ บริโภคขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอดกรอบ เฉลี่ยวันละ 2 ถุง ซึ่งมีน้ำตาลเฉลี่ยถึงถุงละ 4 ช้อนชา ส่วนลูกอมเฉลี่ยวันละ 3 เม็ด แต่ละเม็ดมีน้ำตาล 1 ช้อนชา
          สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สถานศึกษาหลายแห่งเห็นความสำคัญในการจำกัดปัจจัยเสี่ยงด้านโภชนาการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพนักเรียน นำไปสู่การร่วมมือกันของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และโรงพยาบาลลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
          "พ่อค้าแม่ค้าที่มาขายอาหารในโรงเรียนต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยจัดอาหารที่มีประโยชน์มาขาย ที่สำคัญคือห้ามขายขนม ลูกอม น้ำอัดลม ของทอด ของที่มีรสเค็ม รสหวานจนเกินไป" มาตรการควบคุมการขายอาหารของโรงเรียนแย้มสอาดรังสิต คลอง 4 ลำลูกกา ที่ นาง ศุภลักษณ์ ชูเดช ผู้อำนวยการโรงเรียน เน้นย้ำและปฏิบัติเช่นนี้มากว่า 9 ปี หลังเข้าร่วมโครงการกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน
          ผอ.ศุภลักษณ์บอกว่าเดิมทีโรงเรียนมีสัดส่วนเด็กอ้วนมากกว่าร้อยละ 10 แต่หลังเข้าร่วมโครงการควบคุมการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ก็ลดลงเหลือร้อยละ 7 การเลือกอาหารที่ครบตามหลักโภชนาการให้กับนักเรียนจึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก
          โดยอาหารกลางวันจะเน้นตามหลักโภชนา การครบทั้ง 5 หมู่ 1 มื้อต้องประกอบด้วยเมนูที่มีผักเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 4 ช้อนโต๊ะ และอาหารทุกอย่างจะไม่เน้นประเภททอด รสจัด เค็ม หวานจนเกินไป แน่นอนว่าไม่มีน้ำอัดลมในโรง เรียน และถูกแทนที่ด้วยน้ำสมุนไพรที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพียง 1 ส่วนในน้ำ 10 ส่วน และของว่างคือนมจืดที่ให้ดื่มวันละ 2 มื้อ เช้าและบ่าย
          ด้านการเรียนรู้ ในทุกระดับต้องสอดแทรกปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักประโยชน์ ความสำคัญของอาหารที่มีประโยชน์ นักเรียนที่ระดับสูงขึ้นจะเน้นประยุกต์การเรียนรู้เป็นโครงการด้านโภชนา การต่างๆ เช่น การเพิ่มคุณค่าให้กับไข่โดยนำมายำรวมกับสมุนไพร
          ไม่ต่างจากโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม คลอง 7 ลำลูกกา ที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมการบริโภคอาหารในโรงเรียนเช่นกัน ที่นี่ประกาศให้เป็นโรงเรียนปลอดขนมหวาน น้ำอัดลม
          นางจิตรา บุญเขตต์ ครูอนามัย บอกว่าโรงเรียนส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอาหารที่มีประโยชน์ในทุกระดับชั้น ที่สำคัญคือการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน กิจกรรมต่างๆ จะปราศจากอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่างเช่นกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา ภายในงานจะไม่มีขนม ลูกอม น้ำอัดลม พร้อมจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ถึงพิษภัยขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลม เพื่อสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน
          น้องโอม ด.ช.พงศกร หมอศาสตร์ ชั้นม.1 โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม ยอมรับว่าปัจจุบันรู้จักเลือกบริโภคอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำอัดลมที่แทบจะไม่ดื่มเลย
          "เมื่อเราได้เห็นจากการทดลองที่พบว่ากรดในน้ำอัดลมสามารถกัดสนิมและเนื้อหมูให้เปื่อยยุ่ยได้ ก็คิดว่าหากน้ำอัดลมลงไปอยู่ในท้องของเราก็คงมีสภาพเหมือนกัน และน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบในน้ำอัดลมจะทำให้เราเป็นเบาหวานได้ในอนาคต ตอนนี้ผมก็เลิกกิน หันมากินน้ำเปล่าดีที่สุดครับ" น้องโอมเล่าอย่างภูมิใจ
          ด้าน ทันตแพทย์หญิงวัลธินี สยามพันธ์ จากโรงพยาบาลลำลูกกา บอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือนักเรียนมีสุขภาพกาย สุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น เพราะทั้งน้ำอัดลม ลูกอม มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสำคัญ แม้น้ำตาลจะให้พลังงานกับร่างกาย แต่เมื่อมีมากเกินไปจะสะสมทำให้ฟันผุ เมื่อมีฟันผุลุกลามเด็กก็จะมีปัญหาการเคี้ยว หากเคี้ยวไม่ได้ก็จะทำให้กินลำบาก ส่งผลให้น้ำหนักตัวลด ไม่ถึงเกณฑ์ เด็กจะมีปัญหาเกี่ยวพันไปถึงด้านพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา เล่น เรียน นอนไม่ได้ และการรักษาฟันผุต้องใช้เวลานาน ต่อเนื่อง เด็กต้องขาดเรียนบ่อย มีผลต่อการเรียน
          "ผู้ปกครองเองต้องดูแลเอาใจใส่ลูกๆ โดยพยายามให้บริโภคอาหารที่ครบตามหลักโภชนา การ ปฏิเสธที่จะตามใจลูกหากต้องการกินขนมที่ไม่มีประโยชน์ และพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกในเรื่องการกิน" คุณหมอวัลธินีกล่าวพร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลต่อสุขภาพเด็กโดยตรง
          โดยเฉพาะโรงเรียนที่เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตลอดทั้งวัน ต้องตระหนักและสร้างสภาพแวด ล้อมที่เอื้อให้เด็กห่างไกลจากของหวานอย่างจริงจัง
 


pageview  1206162    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved