HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 18/10/2555 ]
สาวมั่นสวยสั่งได้ไม่พึ่ง'ศัลยกรรม'

 "สวยด้วยมือหมอ" กลายเป็นกระแสสังคมที่คน ในยุคนี้ใช้ศัลยกรรม เพื่อปรับเปลี่ยน รูปร่าง หน้าตา ในส่วนที่ไม่พอใจให้สวยสมใจ
          ส่วนหนึ่งที่กระแสศัลยกรรมแพร่ระบาดไปทุกมุมเมือง เป็นเพราะค่านิยม ทัศนคติที่เห็นได้ทุกวันตามหน้าจอทีวี ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มความขาวใส ลดหุ่น การบ่มเพาะความเชื่อที่ว่าต้องมีรูปร่างหน้าตาดีจึงจะมีพื้นที่ในสังคม ทำให้ความต้องการศัลยกรรมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี
          ทางการแพทย์ "ศัลยกรรม" หมายถึงการผ่าตัด แก้ไข เพื่อให้ดีขึ้นกว่าเดิม พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย อธิบายว่าศัลยกรรมเพื่อความสวยงามมีหลายแบบ ทั้งการทายา และกินยา ซึ่งถือว่ามีอันตรายน้อยนอกจากเกิดอาการแพ้หรือกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนศัลยกรรมด้วยการผ่าตัดส่วนใหญ่ทำเพื่อแก้ไข ตกแต่ง เพิ่มเติม ซึ่งในช่วงหลังมีการนำเทคนิคการฉีดสารเข้าไปสร้างเนื้อเยื่อแทนการผ่าตัดแบบเดิม โดยเรียกว่า "วิธีฟิลเลอร์"
          วิธีการศัลยกรรม ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม คุณหมออรรถพันธ์อธิบายว่าล้วนมีข้อดี ข้อเสีย ผลข้างเคียง สิ่งที่ต้องทำคือการศึกษาสิ่งที่กำลังจะทำให้เข้าใจ เริ่มจากมีความรู้เบื้องต้นถึงชื่อสารที่จะฉีด และต้องคุยกับแพทย์ให้เข้าใจ โดยสามารถขอดูขวดสารที่จะฉีดก่อน ซึ่งบนขวดที่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) จะมีชื่อยาทั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อบริษัทผู้ผลิต ฉลากกำกับยา ซึ่งจะมีข้อบ่งใช้ ปริมาณที่กำหนด และเลขที่ยา
          เมื่อตรวจสอบแล้วยังต้องทราบอีกว่า ยาหรือสารทุกชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีโอกาสเกิดการแพ้ได้เสมอ ทำให้ก่อนใช้ยาใดๆ ก็ตามจะมีการสอบถามประวัติการแพ้ยา หรือการแพ้สิ่งต่างๆ ตามฉลากกำกับยาด้วย เช่น สารบางชนิดสร้างจากเปลือก หรือสัตว์ทะเล ผู้ที่แพ้อาหารทะเลก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้เมื่อได้รับสารนั้นๆ ด้วย
          ปัญหาใหญ่จากการทำศัลยกรรมที่แพทย์พบบ่อย คือการแก้ไขปัญหาที่ตามมาจากการศัลยกรรม ซึ่งจะพบปัญหาที่บริเวณใบหน้าบ่อยที่สุด เช่น จมูก คาง ตา เนื่องจากปัจจุบันเทคนิคและสารที่ปลอดภัยมีราคาแพง ทำให้คนบางกลุ่มหาสารที่คิดว่าทดแทนกันได้มาหลอกคนที่อยากสวยแบบประหยัด เช่น ซิลิโคนเหลว พาราฟิน น้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะกอก ทำให้เกิดอันตรายตามมา
          สารที่ไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์และไม่ได้มาตรฐานจะมีอันตราย
          จากทั้งการปลอมปนสารแปลกปลอม รวมทั้งหากไม่เชี่ยวชาญ ในด้านเทคนิคการรักษาจะสร้างอันตรายให้กับผู้ทำศัลยกรรมได้ โดยสารแปลกปลอมอย่างซิลิโคนเหลว พาราฟิน น้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะกอก จะไม่สลายตัว เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกาะและแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อ ทำให้บางรายเกิดการเน่า หรือร่างกายต่อต้านจนต้องเลาะเนื้อบริเวณนั้นๆ ทิ้งทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดในการศัลยกรรม
          "ปัจจุบันพบคนไข้หลายรายฉีดจมูกด้วยสารแปลกปลอมต่างๆ ในหลายชื่อ และเกิดปฏิกิริยาหลังจากนั้นในระยะเวลา 1-4 ปี เช่น บวมผิดปกติ รูปทรงที่เคยฉีดสวยแต่เกิดบิดเบี้ยว มีความขรุขระ ผิวสีเปลี่ยนเป็นเขียวคล้ำและสีออกแดง บางรายส่งผลกระทบต่อจิตใจเพราะส่วนใหญ่คนที่คิดทำ
          ศัลยกรรมจะรักความสวยงาม เมื่อไม่เป็นไปดังใจหรือทำให้ต้องเสียโฉมก็จะรู้สึกเครียดอย่างมาก
          แพทย์จะรักษาคนไข้บนจริยธรรม มีหน้าที่ตอบคำถาม อธิบายผลดีผลเสีย และเลือกใช้ยา หรือสารที่ปลอดภัย แต่ส่วนใหญ่พบว่ามีการฉีดสารที่ไม่ได้รับอนุญาต มักจะกระทำโดยคนที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับยา คิดว่าฉีดง่ายๆ โดยไม่ทราบถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งความจริงแม้แต่สารที่ได้รับอนุญาตว่าปลอดภัยตามวิธีเทคนิคทางการแพทย์และได้รับการยอมรับทางการแพทย์ก็ยังเกิดข้อผิดพลาดที่ไม่คาดคิดได้" พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์กล่าว
          ในส่วนของสารที่ได้รับการอนุญาตถูกต้อง นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า สารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับอย. อย่างถูกต้องมีเพียงชนิด
          เดียว คือสารไฮยาลูรอนิก แอซิด (Hyaluronic acid) จำนวน 30 ทะเบียน จาก 6 บริษัท มีทั้งที่เป็นสารเดี่ยวและผสมยาชามีปริมาณตัวยาหลากหลาย ตั้งแต่ขนาด 3 มิลลิกรัม จนถึง 25 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหลอดฉีดยา เป็นยาที่นำเข้าจากประเทศแถบยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส แคนาดา สวีเดน
          ข้อบ่งใช้ที่อนุญาตคือเป็นสารฉีดเติมเพื่อใช้สำหรับเพิ่มปริมาณของเนื้อเยื่อ ใช้ในการแก้ไขการยุบตัวของเนื้อเยื่อผิวหน้า มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ แก้ไขความพิการต่างๆ แต่มีการนำไปปรับใช้เพื่อเสริมความงาม ยานี้ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้สารไฮยาลูโรเนต ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อตัวเองหรือโรคเบาหวาน เจ็บคอเป็นประจำ ปวดข้ออย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยเกิด คีลอยด์ง่าย คนท้องหรือให้นมบุตร คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามฉีดลงไปในหลอดเลือด บริเวณรอบดวงตา กระดูก เอ็น พังพืด ห้ามใช้เพื่อเพิ่มขนาด
          หน้าอก และห้ามใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น การลอกผิว การขัดผิว การรักษาด้วยเลเซอร์ต่างๆ
          สำหรับข้อควรระวังคือ ก่อนการรักษาคนไข้ต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวยา ข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และควรรับการรักษาจากสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมาย หากเกิดอันตรายจากการแพ้ทางสถานพยาบาลจะรับผิดชอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงที
          ศัลยกรรมเป็นเพียงแค่กระแส เพราะแท้จริงแล้วความงามเป็นสิ่งที่ออกมาจากตัวตนข้างใน เป็นความสวยงามที่เราสั่งได้เพียงแค่เชื่อมั่นในตนเองพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การทำศัลยกรรมเป็นเรื่องความรู้สึกของคนที่ต้องการได้รับการยอมรับ อยากหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเติมเต็ม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมที่ฉาบฉวย มองแต่สิ่งภายนอก แต่ความจริงแล้วความภูมิใจในตนเองเกิดขึ้นได้จากภายในจิตใจ คนที่ไม่เชื่อมั่น ไม่รักและนับถือตัวเองจะคิดว่าคนอื่นมองตนเองว่าไม่สำคัญเช่นกัน และหาทางออกด้วยการเปลี่ยน แปลงตัวเองให้เป็นแบบที่คนอื่นสนใจ
          การอยากสร้างคุณค่าให้ตัวเองมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่อยากได้รับการยอมรับ การศัลยกรรมจึงเป็นทางเลือกที่ตอบสนองได้เร็วที่สุด
          นอกจากความอยากศัลยกรรมยังมีคนที่เป็นโรคเสพติดศัลยกรรม (Body dysmorphic disorder) ซึ่งมีลักษณะจำเพาะ คือไม่เคยพอใจในตนเอง ทำให้ผ่าตัดทำศัลยกรรมซ้ำๆ คิดวนเวียนแต่เรื่องการทำศัลยกรรม และคิดว่า คนอื่นมองว่าไม่สวย คนกลุ่มนี้มักมีปัญหาเรื่องการปรับตัวอยู่กับคนอื่น ซึมเศร้า ถือเป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องรักษา
          "การสร้างคุณค่าในตัวเองทำได้โดยเริ่มจากรัก เคารพ และเชื่อมั่นในตนเอง เพราะทุกคนมีสิ่งดีสิ่งด้อยไม่เหมือนกัน แต่ไม่มีใครเลยที่จะไม่มีส่วนดี เช่น เป็นคนพูดเพราะก็สามารถสร้างเสน่ห์ให้คนรอบข้างสนใจและประทับใจได้เช่นกัน"
 


pageview  1205850    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved