HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 09/10/2555 ]
สุดยอด'นวัตกรรม'แห่งปี! ติดอาวุธไทยสู่เออีซี-ตลาดโลก

  "นวัตกรรม" ถือเป็นการรังสรรค์กระแสธารแห่งวิทยาการสมัยใหม่ ที่เป็นหนึ่งในพลังสำคัญของการขับเคลื่อนโลก
          เพราะนวัตกรรมเป็นเทคโนโลยีที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ มีความสดใหม่
          ช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้
          จึงไม่น่าแปลกที่บรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลกที่ประสบความสำเร็จ ล้วนเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมด้วยกันทั้งสิ้น
          โดยธุรกิจเชิงนวัตกรรมนั้นนอกจากสร้างกำไรมหาศาลให้กับผู้ลงทุนแล้ว
          ยังช่วยเพิ่มพูนอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างดีเยี่ยมด้วย!
          เนื่องในโอกาส "วันนวัตกรรมแห่งชาติ" ของไทย เมื่อ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือ "เอ็นไอเอ" กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยจรรโลงให้เกิดความก้าวหน้าทางนวัตกรรมไทย ได้จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัล "นวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2555"
          โดยมี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้มอบรางวัล
          สำหรับการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งในปีนี้ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ คือ บริษัทโนวาเทค เฮลธ์แคร์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยนาโนเซลลูโลส จำกัด ผู้พัฒนา "BluRibbon" (บลูริบบอน) แผ่นปิดแผลนาโนไบโอเซลลูโลสเคลือบคริสตัลเงินนาโนสีฟ้า
          ขณะที่ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนา "เครื่องละลายตะกอนน้ำมันดิบ ปตท."
          ภายในงานยังมีการจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" และผลงานที่เคยได้รับรางวัล "นวัตกรรมข้าวไทย" ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าว รวมทั้งผลงานที่ได้รับรางวัล "การออกแบบเชิงนวัตกรรม" และ "รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย" ซึ่งมอบให้กับผลงานต้นแบบของนิสิตนักศึกษา ตลอดจน "TRUE INNOVATION AWARDS" จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ "MITRPHOL INNOVATION AWARDS" จากบริษัทของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล
          สำหรับนวัตกรรมที่เป็นไฮไลต์ของงาน คือ แผ่นปิดแผลนาโนไบโอเซลลูโลสเคลือบคริสตัลเงินนาโนสีฟ้า จดทะเบียนสินค้าภายใต้ชื่อ "BluRibbon"
          นับเป็นผลงานนวัต กรรมระดับโลกของคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ก่อนหน้านี้สร้างชื่อเสียงไปคว้ารางวัลเหรียญทอง ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 40 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนเม.ย.2555
          "BluRibbon" เป็นผลิตภัณฑ์รักษาแผลที่มีลักษณะเหมือนผ้าพันแผลทำจากไบโอเซลลูโลสของแบคทีเรียที่ถูกบ่มเพาะในห้องปฏิบัติการ และเลี้ยงให้โตด้วยข้าวไทย
          ผลที่ได้คือ เส้นใยที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กมาก อยู่ในระดับนาโน ซึ่งเมื่อกลายเป็นร่างแหขึ้นมาจะทำให้ช่องว่างระหว่างเส้นใย หรือ ปริมาณของรูพรุนสูง ทำให้อุ้มน้ำช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แผลได้นาน (แผลหายเร็วกว่าแผลแห้ง) และไม่ติดแผลเวลาลอกออก ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้แผลหายช้า เนื่องจากเมื่อลอกออกจะทำให้เกิดแผลใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ป่วยยังต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดด้วย ส่วนการใช้สามารถพันแผล หรือปั้นเป็นก้อนเพื่อใส่ไว้ในบาดแผลได้
          จุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ สารคริสตัลเงินนาโน ที่มีคุณสมบัติการลดอัตราการติดเชื้อของแผล ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย
          ทว่าความพิเศษกว่าของสารคริสตัลเงินนาโนที่ใช้ใน BluRibbon คือ "สีฟ้า" ซึ่งเป็นผลงานต่อยอดและการวิจัยร่วมกับ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ และคณะผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสารคริสตัลเงินนาโนสีฟ้า ถือเป็นตัวแรกในโลก ประโยชน์ของสีดังกล่าว คือ การใช้เป็น "ตัวชี้วัด" หรือ อินดิเคเตอร์ เพื่อบ่งบอกสภาพการใช้งานของ BluRibbon  โดยสีจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีฟ้ากลายเป็นสีม่วง สีชมพู และสีเหลือง ซึ่งหมายความว่า สารคริสตัลเงินนาโนหมดสภาพแล้ว ช่วยทำให้ผู้ใช้รู้ว่าเมื่อใดที่ควรเปลี่ยนอันใหม่ นอกจากนี้ ยังบ่งบอกความรุนแรงของการติดเชื้อที่แผลบริเวณนั้นๆ ได้ด้วย สังเกตได้จากความรวดเร็วในการเปลี่ยนสีของสารคริสตัลเงินนาโนสีฟ้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของแพทย์
          ภก.อดิศร อาภาสุทธิรัตน์ จากบริษัทโนวาเทค เฮลธ์แคร์ จำกัด กล่าวถึงแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์นวัตกรรมชิ้นนี้ว่า ตนเคยทำงานในบริษัทยาข้ามชาติ ทำให้มีความฝันที่ต้องการจะสร้างเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ของไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าของต่างชาติ
          โดยBluRibbon  เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการนำผลงานวิจัย 2 งานมาต่อยอด ได้แก่ ไบโอเซลลูโลส และสารคริสตัลเงินนาโน สีฟ้า พัฒนามานานราว 4-5 ปี มีการนำมาทดลองใช้จริงและปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวนี้
          ภก.อดิศร ระบุถึงความภูมิใจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมด้านสังคมจากสนช. ว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ดีใจยิ่งกว่ารางวัลจากสวิสเสียอีก เพราะรางวัลในประเทศไทยนับเป็นรางวัลที่มีความพิเศษ ไม่เหมือนที่ใดในโลก ตลอดจนบริษัทของตนนั้นเป็นธุรกิจของคนไทยโดยสมบูรณ์ วัสดุและโรงงาน อยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น ซึ่งตนจะใช้ความภูมิใจดังกล่าวเป็นแรงขับดันในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมออกมาต่อไป
          และเตรียมเข้าสู่การเปิดตลาดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ "เออีซี" ในปี 2558
          ส่วนอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านเศรษฐกิจและมีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน คือ "เครื่องละลายตะกอนน้ำมันดิบ ปตท." หรือ PTT Electromagnetic Induction
          โดยการได้รับรางวัลครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกอันแสนภาคภูมิใจของคณะผู้พัฒนาหนุ่มสาว ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปตท.นั้นเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานของไทย
          เมื่อพูดถึงพลังงาน หลายคนมักจะนึกถึง "น้ำมัน" แต่กว่าจะมาเป็นน้ำมันในจินตภาพของเราท่านกันตามปั๊มนั้นต้องผ่านกรรมวิธีและกระบวนการมากมายที่หลายอย่างก็มีปัญหาในตัวของมันเอง
          และหนึ่งในปัญหาดังกล่าว คือ "Wax" หรือ ตะกอนของน้ำมันดิบ อาทิ คราบตามผนังด้านในของถังน้ำมันบนรถไฟ ทำให้สูญเสียน้ำมันดิบส่วนที่กลายเป็นตะกอน
          ดร.วิชาพันธ์ วีระภาคย์การุณ หนึ่งในคณะผู้พัฒนาจากฝ่ายวิจัยและวิศวกรรมปิโตรเลียม สถาบันวิจัยและเทคโนโลยีของปตท. ระบุว่า ปัญหาการสะสมของตะกอนน้ำมันดิบภายในถังน้ำมันบนรถไฟ ได้มีความพยายามแก้ไขมานานถึง 20 ปี
          แม้กรรมวิธีแก้ไขจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่กลับพบว่าน้ำมันดิบของประเทศไทยนั้นมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เหนียวมาก จึงถือเป็นความท้าทาย และความโดดเด่นของเครื่องละลายตะกอนน้ำมันดิบ ปตท. ที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยน้ำมันดิบที่ได้คืนมามีมูลค่ากว่า 759 ล้านบาทต่อปี และยังช่วยทดแทนสารเคมีนำเข้าที่ใช้สำหรับการละลายตะกอนน้ำมันดิบได้มูลค่ากว่า 50 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะลดการปนเปื้อนของน้ำมันดิบที่ออกมากับน้ำล้างถังน้ำมันรถไฟด้วย
          เครื่องละลายตะกอนน้ำมันดิบ ปตท. ใช้หลักการของการเหนี่ยวนำด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้เกิดความร้อนไปละลายตะกอนน้ำมันที่เกาะอยู่ตามผนังของถังน้ำมันบนรถไฟขนส่งน้ำมันดิบ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถือเป็นนวัตกรรมละลายตะกอนน้ำมันดิบชิ้นแรกของโลก โดยทดสอบการใช้งานมานานกว่า 3 ปี และอยู่ระหว่างขอจดสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ
          สำหรับวิธีการใช้งานนั้นเพียงเลื่อนอุปกรณ์ดังกล่าวไปเรื่อยๆ ตามด้านข้างของถังน้ำมันบนรถไฟ ก็จะสามารถละลายตะกอนออกได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากอาศัยคุณสมบัติการถ่ายเทความร้อนของถังน้ำมันที่เป็นโลหะ นอกจากนี้ ยังป้องกันการระเบิดได้อย่างสมบูรณ์ตามมาตรฐานสากลด้วย!
          "นวัตกรรมนี้เกิดจากการคิดนอกกรอบ เนื่องจากกรรมวิธีที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขจากภายในถังน้ำมัน ทางทีมงานจึงคิดแก้ไขจากภายนอกถัง ด้วยความที่ถังเป็นโลหะ จึงคิดว่าจะทำอย่างไร ที่จะให้ตัวถังน้ำมันเกิดความร้อนไปละลายตะกอนน้ำมัน นำมาสู่แนวคิดการใช้การเหนี่ยวนำด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า เพราะนอกจากใช้งานง่ายแล้ว ยังมีความซับซ้อนไม่มากด้วย" ดร.วิชาพันธ์ กล่าว
          ด้าน นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. ระบุว่า รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ จัดมาปีนี้เป็นปีที่ 8 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิด "วัฒนธรรมนวัตกรรม" ภายในองค์กรต่างๆ ซึ่งในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะเข้าสู่เออีซี
          นายศุภชัยกล่าวว่า เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้นำผลงานนวัตกรรมของไทยไปนำเสนอที่ประเทศเบลเยียมมา ปรากฏว่าผู้ฟังทึ่งมาก เพราะไม่เชื่อว่าไทยจะมีศักยภาพถึงขนาดนี้
          นั่นหมายความว่าความสามารถของไทยนั้นมี แต่นอกจากความรู้แล้ว จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างอื่นๆ มาประกอบด้วย
          อาทิ การลงทุน การตลาด และกองทุนต่างๆ ที่เข้ามาร่วมกันผลักดัน
          ซึ่งในอนาคตทางสนช.นั้นมีนโยบายที่จะฟูมฟักให้ธุรกิจนวัตกรรมของไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าในปัจจุบันไทยยังมีโครงสร้างที่ช่วยให้นวัตกรรมเหล่านี้เฟื่องฟูขึ้นมาได้น้อย เอกชนส่วนใหญ่จึงมักใช้ความสามารถของตัวเอง
          อย่างไรก็ตาม ตนกล้าพูดได้ว่า ผลงานนวัตกรรมของไทยในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีความโดดเด่นไม่เป็นรองใคร
          "ความท้าทายที่สุดของสนช. คือ การสร้างนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เพราะทางรัฐบาล หรือ สนช.คงไม่สามารถไปช่วยสนับสนุนเอกชนทุกรายได้
          "แต่จุดสำคัญ คือ การสร้างรูปแบบที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมในการขับเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต
          "หรือการสร้างนวัตกรรมในระดับยุทธศาสตร์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบมากขึ้นในการแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นทั่วโลก"ผู้อำนวยการ สนช. กล่าว
 


pageview  1205860    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved