HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 02/10/2555 ]
'บุคลิกแปรปรวน' ปมฆาตกรสองหน้า!

 ทุกครั้งที่มีข่าว เหตุการณ์สะเทือนใจ จากการก่อคดีที่มีผู้ต้องหาเป็นคน ที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่ยอมรับในสังคม ย่อมเกิดแรงสะเทือนไปทั่ว พร้อมๆ กับการตั้งข้อสงสัยว่า
          เหตุใดบุคคลเหล่านั้น ถึงลงมือก่อเหตุได้ ทั้งที่น่าจะควบคุมตนเองได้ดีกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะคดีที่มี "หมอ" เข้าไปเกี่ยวข้อง มักได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะหมอเป็นคนที่ทำหน้าที่ช่วยชีวิต ให้ชีวิต และเป็นที่พึ่งของประชาชน
          สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายว่าอะไรเป็นเหตุให้คนมีความรู้ความสามารถลงมือกระทำเรื่องร้ายๆ ได้ จะเป็น 'อีคิว' หรือ 'ปัญหาทางจิตอื่นใด' ซึ่งตราบที่คดียังไม่ถึงที่สุด การกล่าวหาว่าใครเป็นคนกระทำผิดคงไม่ถูกต้องแน่นอน!!
          การนำเสนอบทความ "หลาก&หลาย วิทยาการ" ในสัปดาห์นี้ จึงมุ่งเน้นทำความเข้าใจ ปรับความคิดและร่วมหาเหตุผล รวมถึงทางแก้ปัญหาไปด้วยกันกับสังคม!
          พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต อธิบายเพื่อปรับฐานความคิดไปพร้อมๆ กันว่า
          ผู้ที่กระทำความผิดขัดต่อหลักกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม ซึ่งเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่า ไอคิวสูงหรือต่ำ จนหรือรวย ชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่
          แต่สิ่งที่ผิดปกติออกไป เมื่อกลุ่มคนหนึ่งที่จัดว่ามีสติปัญญาสูง ร่ำรวย ประสบความสำเร็จ เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม หรือเป็นตัวอย่างของสังคม เป็นแบบอย่างของวัยรุ่น เช่น ดารา นักร้อง ครู หมอ นักธุรกิจ เป็นต้น
          คนกลุ่มนี้เมื่อกระทำความผิดจะถูกจับตาให้ความสนใจ วิพากษ์วิจารณ์มากกว่าปกติ เพราะสังคมมีความคาดหวังกับคนกลุ่มนี้ไว้สูง ว่าจะไม่ทำเรื่องไม่ดี
          "แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบการทำผิดระหว่างคนกลุ่มที่ถูกคาดหวัง กับคนทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จัก จะพบว่าคนกลุ่มแรกมีปริมาณการทำผิดต่ำ แต่สามารถเขย่าสังคมให้สะเทือนใจได้ทุกครั้ง เพราะความคาดหวังของสังคมนั่นเอง ยิ่งเก่งมาก ประสบความสำเร็จมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความคาดหวังสูงตามไปเท่านั้น แต่มนุษย์ไม่ได้ดีหรือไม่ดี เพราะฐานะหรือไอคิว จึงสามารถทำผิด ก่อความรุนแรงได้ทั้งนั้น" พญ.อัมพรอธิบาย
          ส่วน "ข้อสงสัย" ถึงความฉลาดทางความคิดหรือ "ไอคิว" กับความฉลาดทางอารมณ์ หรือ "อีคิว" ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งสูง อีกอย่างจะต่ำลงนั้น พญ.อัมพรอธิบายว่า
          ตามปกติแล้ว ไอคิวกับอีคิว เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกัน แต่ในบางกรณีก็สามารถเกิดขึ้นอย่างไม่สอดคล้องได้ เช่น ในช่วงวัยเด็กซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาไอคิว มีอุปสรรคมารบกวนการพัฒนาอีคิว ก็สามารถทำให้ไอคิวและอีคิว ไม่สอดคล้องกันได้
          เช่น ถูกเลี้ยงมาด้วยความรุนแรง อยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ถูกเอาเปรียบในวัยเด็กหรือตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง หรือถูกกระทำทารุณทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกาย บางครั้งอาจเกิดจากการ ที่เด็กไม่ได้อยู่กับครอบครัวหรือไม่มีใครปกป้องในวัยเด็ก
          สิ่งที่บรรยายมาข้างต้นเหล่านี้ สามารถทำให้เกิดปมในใจ กลายเป็นความโกรธ ความเกลียด หรือเจ็บแค้นในใจ ซึ่งจะแสดงออกทางบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น ทำให้แสดงออกในเชิงต่อต้าน หรือใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาได้ จริยธรรมจึงถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะมีมากน้อยเพียงใด ก็จะเกิดจากการเลี้ยงดูตั้งแต่ในวัยเด็ก
          ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิตฯ ยังวิเคราะห์ถึงกรณีบุคคลที่มีไอคิวสูงลงมือกระทำความผิด และกลบเกลื่อนอย่างแนบเนียน ตามที่เป็นข่าวครึกโครมหลายคดีว่า
          ส่วนหนึ่งคนกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องจริยธรรมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แต่เมื่อมีไอคิวสูงหรือเฉลียวฉลาดกว่าคนปกติ เมื่อกระทำความผิดแล้ว จึงใช้ความฉลาดนั้นปกปิด ปิดบังให้ตนเองพ้นผิด แทนที่จะยอมรับผิด
          เช่น เมื่อทำผิดแล้วกลับสร้างหลักฐานและแสดงท่าทีราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในทางจิตวิทยามีการสันนิษฐานไปถึง "multiple personality disorder"หรือ "อาการบุคลิกแปรปรวน" ซึ่งบางคนรู้ตัวว่ากระทำความรุนแรง แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้มีหลายบุคลิกในคนคนเดียว แต่ลักษณะเช่นนี้ จะพบได้น้อยมาก และสังเกตได้ยาก
          ลักษณะของ  "อาการบุคลิกแปรปรวน"ลัส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ซึ่งผ่านความรุนแรงหรือประสบการณ์เลวร้ายมา
          ส่วนใหญ่แล้วคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท จะสังเกตเห็นถึงพฤติกรรมที่มีความแปรปรวนอยู่ แต่ส่วนใหญ่ด้วยความรัก จึงมักคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องช่วยปกปิดไว้ไม่ให้ใครรู้
          ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วยิ่งรัก ยิ่งปรารถนาดี ยิ่งต้องช่วยเหลือด้วยการชักจูงให้ทราบถึงผลเสีย-ผลร้ายที่จะตามมาและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยปฏิบัติด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ตามใจ
          แต่หากลักษณะที่เกิดขึ้นมีความยากและซับซ้อนเกินไปก็จำเป็นต้องรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์อีกทาง
          ลักษณะอาการบุคลิกแปรปรวนนั้น ยังมีความเข้าใจผิดไปถึงอีกโรคหนึ่ง คือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ไบโพลาร์(bipolar disorder)
          สำหรับอาการดังกล่าว นพ.พงศกร เล็งดี จิตแพทย์สถาบันวิจัยจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา อธิบายว่า
          "โรคไบโพลาร์" เป็นเรื่องของอารมณ์ที่แปรปรวนอย่างรุนแรง บางครั้งอารมณ์ดีสุดๆ บางครั้งก็ซึมเศร้าได้สุดๆ โดยอาการที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและอารมณ์สุดขั้วอย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์
          ผู้เป็นไบโพลาร์จะมีช่วงอารมณ์สุดขั้วสลับกัน ในช่วงที่อารมณ์ดีมาก จะมีความสุขมากผิดปกติ มีลักษณะการแสดงออกหลายรูปแบบ เช่น ใช้เงินเยอะไปเพื่อช็อปปิ้ง เพื่อลงทุน เล่นการพนัน นอนน้อย พูดเยอะ รู้สึกมีพลังมาก คิดอยากทำสิ่งต่างๆ หลายๆ เรื่องพร้อมกัน ทำงานติดต่อกันไม่หยุด รู้สึกความคิดแล่นเป็นพิเศษ
          ผู้ป่วยไบโพลาร์แบบถาวรบางครั้งจะรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าปกติ เช่น เป็นเทพต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหลังจากอารมณ์ดีสุดขั้ว ก็จะกลับไปมีระยะซึมเศร้า บางคนใช้เงินไปเยอะก็จะรู้สึกเสียดายเงิน หดหู่ ซึมเศร้า เบื่อไม่อยากทำอะไร หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ น้ำหนักลดหรือ เพิ่มรวดเร็ว  นอนไม่หลับ ไม่สดชื่น บางคนรู้สึกสิ้นหวังไม่อยากมีชีวิตอยู่เลยก็มี
          อารมณ์ที่สลับไปมาอย่างรุนแรงนี้ ถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยคนคนนั้น บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการหลงผิด หวาดระแวง ซึ่งเข้าสู่ระยะของอาการทางจิตประสาทได้
          จะเห็นได้ว่า ลักษณะอาการทางจิตมีความสลับซับซ้อนมาก ไม่สามารถสรุปได้ว่าอาการอย่างหนึ่งอย่างใด คือโรคทางจิตประเภทไหน ซึ่งกว่าจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นอาการทางจิตประเภทใดต้องมีการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา เพื่อดูพฤติกรรม รวมทั้งอาการอย่างละเอียด
          การแก้ปัญหา บำบัดเยียวยาอาการเหล่านี้พบว่า ส่วนใหญ่จะเริ่มได้จากการเติมความรัก ความอบอุ่นภายในครอบครัว ตั้งแต่วัยเด็ก
          และนอกจากโภชนาการดี ที่จะทำให้เด็กแข็งแรงมีไอคิวดี พัฒนา การด้านต่างๆ ดี.. "ความรัก" ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหล่อเลี้ยงให้คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ทั้งกายและใจ!
 


pageview  1205850    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved