HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 13/09/2555 ]
4 เทคนิคสอนลูก'เมนต์-ไลก์'วัยแอพ

 ในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก การพูดคุยติดต่อสื่อสารสะดวกและกว้างไกลมากขึ้น เด็กๆ และเยาวชนมีเพื่อนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนใหม่ต่างเพศที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน หรือเพื่อนของเพื่อน มากมายเกินกว่าพ่อแม่จะคาดคิด
          ทั้งจากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือแอพลิเคชั่นต่างๆ ที่กำลังได้รับความนิยม อย่างไลน์ วอตส์แอพ และบีบี ทำให้หลายครอบครัวมีปัญหาว่าลูกใช้เวลาอยู่ในโลกโซเชี่ยลมากจนเกินไป
          พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า การติดต่อสื่อสารกันโดยผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว ประหยัด เพลิดเพลินสนุกสนาน โดยเฉพาะวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการเพื่อน ต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง เมื่อมีคนมากดไลก์
          หรือคอมเมนต์ หัวใจก็จะพองโต
          บางคนใช้เป็นช่องทางหาเพื่อนใหม่ เพื่อนต่างเพศ ต่างโรงเรียน หากใช้เป็นก็จะเกิดผลดี แต่หากใช้ไปในทางที่ผิดอาจทำให้เสียหายได้
          ยิ่งในปัจจุบันมักมีคนไม่ดีแอบแฝงเข้ามาฉกฉวยโอกาส ล่อลวง หรือกระทำไม่ดีต่อเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และยังอ่อนต่อโลก การใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กจึงเป็นเหมือนดาบสองคม มีทั้งข้อดีและข้อเสีย พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจและต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้กับลูก โดยสื่อสารพูดคุยกับลูก เพื่อเด็กจะได้รู้สึกว่ามีโอกาสใช้สื่อ ไม่ได้ถูกห้าม
          ขณะเดียวกันต้องหาทางแนะนำ สอนให้เด็กรู้จักวางแผนว่าจะใช้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือรบกวนกิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการบ้านหรือทำงาน
          "พ่อแม่ควรเรียนรู้การใช้สื่อที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก เหมือนวิธีเลือกหนังสือให้ลูกอ่านตามวัย ถ้าบางกรณีเด็กเห็นอะไรที่ไม่เหมาะสมทั้งข้อความหรือรูปภาพแล้วมาถาม ให้สอนและตอบคำถามเท่าที่เด็กวัยนั้นควรจะรู้ และตอบในเชิงวิชาการ มีรูปภาพประกอบชัดเจน"
          จิตแพทย์แนะ 4 แนวทางแนะนำลูกเกี่ยวกับการใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กได้อย่างถูกต้องเหมาะสมดังนี้
          1. วิธีสอนลูกในเรื่องนี้ที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้สื่อต่างๆ ซึ่งสามารถสอนได้ตั้งแต่เด็ก คือใช้เท่าที่จำเป็น เช่น โทรศัพท์ควรพูดธุระสั้นๆ ไม่ควรโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อนของพ่อแม่นานๆ ให้ลูกเห็น
          2. ต้องมีขอบเขตความพอเหมาะและกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจน พูดคุยกับลูกให้เข้าใจและยอมรับในหลักการ เช่น ให้ใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กในช่วงเวลาใด เช่น 1 ทุ่ม 2 ทุ่ม เท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงห้ามใช้นอกช่วงเวลานี้ ถ้าจำเป็นจริงๆ จะต้องขออนุญาต หรือให้เล่นโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กกับเพื่อนๆ ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน อาจโอนอ่อนผ่อนตามได้บ้างแต่ให้อยู่ในกติกาที่ตกลงกัน
          3. การให้ลูกยอมรับกฎหรือวินัยของบ้านนั้นต้องคำนึงถึงหลักการดังนี้ คือ สมเหตุสมผล ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ต้องบังคับได้ คือ พ่อแม่ต้องทำจริง และความสม่ำเสมอในกฎ อย่าพูดอย่างหนึ่งแล้วทำอย่างหนึ่ง อย่าทำบ้างไม่ทำบ้างแล้วแต่อารมณ์
          4. ในวัยรุ่นพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเรื่องการคบเพื่อน เพราะเขาจะเลือกเพื่อนของเขาเอง มีปัญหาอะไรก็แก้ไขเองได้หรืออาจปรึกษาพ่อแม่บ้าง ดังนั้นถ้าเราเลี้ยงลูกเหมาะสมแล้ว เด็กจะแยกแยะได้ว่าเพื่อนคนไหนนิสัยดีไม่ดี แต่พ่อแม่ควรมีหลักเกณฑ์และขอบเขตให้แก่เด็ก คือ เพื่อนคนนั้นไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ไม่รบกวนเรื่องการเรียนหรือวุ่นวายกับคนอื่นมากเกินไป ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อยู่ในกรอบวัฒนธรรมที่ดี
          นอกจากนี้ โรงพยาบาลมนารมย์ โดย พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จัดบรรยายหัวข้อ 'รับมืออารมณ์วัยรุ่น' วันเสาร์ที่ 15 ก.ย. เวลา 09.00-12.00 น. ห้องประชุมชั้น 2 โรงพยาบาลมนารมย์ (บางนา) สนใจหรือสอบถามโทร. 0-2725-9595, 0-2399-2822 ต่อ 544 ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ www.manarom.com
 


pageview  1206115    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved