HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 26/07/2555 ]
แนะ3รู้-สูโรคไต หมั่นเช็กสัญญาณป่วย

 โครงการกำลังใจเพื่อชีวิตอิสระ ของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ได้จัดเสวนา "3 รู้...สู้โรคไต" เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย รวมทั้งการป้องกัน และวิธีการบำบัดรักษาที่ถูกต้อง โดย พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต ศูนย์ล้างไตทางช่องท้องโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) สาขาพร้อมมิตร และสาขาธนบุรี เป็นวิทยากร
          พญ.ปิยะธิดาบอกว่า อุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 4.5 จากประชากรที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง จนกระทั่งเป็นโรคไตวายเรื้อรังในที่สุด และยังมีโรคเกาต์ นิ่วในไต กรวยไตอักเสบ รวมถึงอาจเกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา และสารเคมีต่างๆ ได้แก่ ยาแก้ปวดกลุ่ม "เอ็นเสด (NSAIDs)" และยาปฏิชีวนะบางตัว รวมถึงภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ไต และการเป็นแต่กำเนิด
          กุญแจสำคัญในการป้องกันโรคไตวายเรื้อรัง คือ การกระตุ้นให้ทุกคนเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของไตและโรคไต 2.การรู้จักป้องกัน โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้ยาที่ไม่ทราบที่มา และดูแลสุขภาพ ที่สำคัญต้องรักษาโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไต ควรได้รับการตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อคัดกรองโรคไตวายเรื้อรังอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
          ผู้ป่วยต้องรู้จักสังเกต สัญญาณอันตรายบ่งบอกโรคไต ดังนี้ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะออกน้อยลง แสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ มีเศษนิ่วเลือดปน มีสีน้ำล้างเนื้อ หรือปัสสาวะเป็นฟอง การบวมของใบหน้า รอบดวงตา เท้า และท้อง กดแล้วเป็นรอยบุ๋ม ปวดเอวหรือหลังด้านข้าง ความดันโลหิตสูง แต่บางคนที่เป็นไตวายก็ไม่แสดงอาการเหล่านี้ จึงต้องตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัย
          3.รู้บำบัด เพราะโรคไตวายเรื้อรังถ้าไม่บำบัดทดแทนไต ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตส่วนผู้ป่วยไตวายที่ยังสูญเสียสภาพไตไม่มาก ต้องชะลอการเสื่อมของไตให้มากที่สุด ดังนี้ จำกัดอาหารรสจัด เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ นม หัวผักกาดสีแสด ผักชี ผักที่มีใบสีเขียวเข้ม ถั่ว ผลไม้แห้งทุกชนิด ช็อกโกแลต มะพร้าวขูด จำกัดปริมาณน้ำดื่มแต่ละวัน รักษาด้วยยา เช่น ยาลดความดัน ยาจับฟอสฟอรัส หรือยารักษาความเป็นกรดในเลือด ไม่ทำงานหนัก เป็นต้น
          "หากผู้ป่วยมีอาการถึงระยะสุดท้าย ต้องบำบัดทดแทนไต ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี คือ 1.การปลูกถ่ายไต 2.การฟอกเลือด และ 3.การล้างไตทางช่องท้อง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ได้รับตามสิทธิอีกด้วย โดยบรรจุอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า"
 


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved