HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 11/07/2555 ]
หยุดภูมิแพ้เรื้อรังลดเสี่ยงป่วยขั้นรุนแรง

จากงานเสวนา "หยุดไข้หวัด ภูมิแพ้ ตัวถ่วงความเจริญ" ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ดีคอลเจน จำกัด และโรงพยาบาลพญาไท 2 นพ.อธิก แสงอาสภวิริยะ อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้ของโรงพยาบาล บอกว่า ทุกวันนี้ไข้หวัดและภาวะโรคภูมิแพ้ทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ เกิดสาเหตุหลายประการ ทั้งเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคอย่างเร็วและกว้างขวางขึ้น ตลอดจนการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุลของคนสมัยใหม่ เช่น พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย เครียด สูบบุหรี่จัด รับประทานอาหารไม่ถูกสุขอนามัยและหลักโภชนาการ ทำให้เป็นโรคอ้วน ภูมิต้านทานร่างกายลดลง และป่วยบ่อยมากขึ้น
          นพ.อธิกบอกอีกว่า เมื่อร่างกายอ่อนแอลงทำให้ติดไข้หวัดหรือเกิดอาการภูมิแพ้ได้ง่าย ส่งผลต่อการงานอย่างมาก พบว่ามีผู้ป่วยถึงร้อยละ 20 ที่ปล่อยให้ตัวเองเป็นหวัดและภูมิแพ้อย่างเรื้อรัง จนลามไปเป็นโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ที่หนักยิ่งขึ้น เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคหืด โรคริดสีดวงจมูก ซึ่งโรคเหล่านี้สร้างความเสียหายได้มากขึ้น เพราะบางรายถึงกับต้องขาดงานบ่อยๆ
          "การดูแลสุขภาพคนส่วนใหญ่มักจะไม่ใส่ใจ อีกส่วนหนึ่งที่พยายามจะทำแต่ก็ทำไม่ถูกต้อง เช่น ที่บอกว่าควรนอนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมงนั้น หมายถึงการนอนยาวรวดเดียวเลย ไม่ใช่แบ่งงีบนอนเป็นพักๆ ระหว่างวันอย่างที่นักบริหารชอบทำกัน แบบนั้นไม่ได้ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออย่างเต็มที่ หรือการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ มีนักโภชนาการระดับแถวหน้าหลายคนแนะนำว่าช่วงอากาศเปลี่ยนควรจะเสริมด้วยการบริโภคอาหารที่มีธาตุร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ จะเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย และควรเคร่งครัดเรื่องดูแลบ้าน ห้องทำงาน และรถให้สะอาดเสมอ"
          นพ.อธิกอธิบายว่า การใช้ยาแก้หวัดและภูมิแพ้ต้องใช้ให้ถูกต้อง และเลือกให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของแต่ละคน ยาแก้หวัดและภูมิแพ้แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกคือยาที่มีตัวยาคลอเฟนิรามีน ผสมกับเฟนิลเอฟริน โดยคลอเฟนิรามีนช่วยลดการคัดจมูก ส่วนเฟนิลเอฟรินช่วยลดการคั่งในโพรงจมูก ทำให้จมูกโล่ง ยาประเภทนี้ทำให้ผู้ป่วยง่วง ช่วยร่างกายได้พักผ่อน ฟื้นฟูสภาพตัวเองให้กลับมาแข็งแรง
          ยาอีกกลุ่มหนึ่งคือ ยาที่ไม่มีส่วนผสมของคลอเฟนิรามีน ยากลุ่มนี้จะไม่ทำให้ง่วง ดังนั้น ก่อนจะซื้อยาควรปรึกษาเภสัชกร หรือคุยกับคุณหมอให้ชัดเจน จะได้เข้าใจถึงคุณสมบัติของยาและเลือกใช้ได้เหมาะสมและปลอดภัย
 


pageview  1205848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved