HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 10/07/2555 ]
โรคมือ เท้า ปาก

กระทรวงสาธารณสุขพบการระบาดของโรคมือ เท้า  ปาก หรือ Hand foot mouth syndrome ขึ้นในไทย จนต้องมีการปิดศูนย์เด็กเล็กหลายแห่ง
          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก และประชาชนทั่วไปไว้ว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หรือ คอกซากี หรือ เอนเทอโรไวรัสหลายชนิด
          มือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่จะพบบ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยโรคจะเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน เพราะอากาศเย็นและชื้นกว่าปกติ
          สถานการณ์ขณะนี้ พบผู้ป่วย จำนวน 10,813 ราย โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ พะเยา เชียงราย พัทลุง อุทัยธานี ตรัง ลำปาง ระยอง สุราษฎร์ธานี ลพบุรีและจันทบุรี
          เชื้อ เอนเทอโรไวรัส และ คอกซากี ที่พบในประเทศไทย ขณะนี้ยังถือว่าเป็นเชื้อชนิดที่ไม่มีความรุนแรงมาก จึงพบว่า แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการป่วยจำนวนมาก แต่ไม่พบอัตราการตาย หมายถึงความรุนแรงของโรคไม่มากนัก ซึ่งพบว่าในบางประเทศ เช่น เวียดนาม พบเชื้อไวรัสชนิดที่มีความรุนแรงทำให้มีเด็กเสียชีวิตจาก มือ เท้า ปาก และถือเป็นสถานการณ์ที่ น่าเป็นห่วง
          การติดต่อโรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสเหล่านี้จะอยู่ในท้องและออกมากับอุจจาระ การที่เด็กที่ล้างมือไม่สะอาด เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการนำพาโรคมาแพร่กระจาย ด้วยการเอามือเข้าปาก หรือจับสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ไอ จาม ก็จะทำให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
          โรคนี้จะติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย สามารถติดต่อได้จากน้ำลาย ตุ่มพอง แผล อุจจาระ หรือ การไอจามรดกัน ซึ่งหลังจากเด็กหายประมาณ 1 เดือน อาจยังพบเชื้อในอุจจาระได้ แต่จะเกิดการติดต่อได้ยากกว่า
          อาการของโรค หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีอาการเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส และบริเวณรอบๆ จะอักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ จะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
          โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ควรเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวดตามปกติ โรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด
          ที่สำคัญคือ การตัดวงจรการเกิดโรค ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไปยังเด็กคนอื่นในวงกว้างขึ้น เมื่อพบเด็กป่วยจึงต้องแยกเด็กออกจากเด็กคนอื่นๆ หรือ ให้เด็กพักอยู่บ้านไม่ไปโรงเรียน และทำความสะอาดสิ่งของ เครื่องใช้ที่เด็กต้องสัมผัสร่วมกันอยู่เสมอ
          หัวใจสำคัญอีกประการคือ สอนสุขลักษณะให้เด็ก ให้เด็กล้างมือได้อย่างถูกต้อง
          ก็จะช่วยระงับยับยั้งโรคได้
 


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved