HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 03/07/2555 ]
วิธีรักษาแผลน้ำกรด เตือนภัยร้ายไม่ไกลตัว

จากเหตุการณ์น่าตกใจมีการไล่ฉีดน้ำกรดใส่คนเดินถนนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้หญิงสาวผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อ ซึ่งการปฐมพยาบาลตนเองหรือผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการณ์ และการดูแลแผลถือว่าสำคัญ
          ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา แห่งศูนย์เลเซอร์ผิวหนังโรงพยาบาลศิริราช และศูนย์ผิวหนังแอนด์ศัลยกรรมเลเซอร์ไอสกาย แอท วิชัยเวชฯ หนองแขม เผยถึงวิธีดูแลแผลหลังถูกน้ำกรดว่า เมื่อถูกน้ำกรดฉีดใส่ถ้าเป็นกรดชนิดเข้มข้นสูงจะมีอาการแสบร้อนทันที แต่ถ้าความเข้มข้นไม่สูงมากอาจจะแสบร้อนหลังโดนฉีดประมาณ 10 วินาที ถ้าสงสัยว่าถูกน้ำกรดฉีดใส่อย่าตกใจ ให้ควบคุมสติไว้ก่อน อย่าพยายามเอามือไปป้ายออกหรือขยี้ กรดจะยิ่งกระจายไปโดนผิวหนังเป็นบริเวณกว้างขึ้น ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้น้ำสบู่อ่อนๆ ล้างทันที เพื่อทำลายฤทธิ์ของกรด แต่ถ้าไม่มีให้ใช้น้ำสะอาดล้างก็ได้ แต่ไม่ควรถูบริเวณที่ถูกกรดสาดใส่
          การล้างผิวหนังบริเวณที่ถูกกรดควรใช้น้ำสบู่ หรือน้ำสะอาดปริมาณมากค่อยๆ เทใส่แผล โดยระวังไม่ให้โดนผิวหนังบริเวณใกล้เคียงเท่าที่จะทำได้ การถูผิวหนังบริเวณที่ถูกกรดสาดใส่อาจทำให้กรดกระจายไปที่ผิวหนังบริเวณใกล้เคียง หรือทำให้ผิวหนังที่ไหม้จากกรดลอกออก เสี่ยงต่อการเป็นแผลเป็น
          หลังจากล้างแผลจนบรรเทาอาการแสบร้อนแล้ว ควรใช้ผ้าสะอาดพันหรือปิดทับบริเวณแผลเอาไว้ ไม่ให้เกิดการเสียดสีกับเสื้อผ้าหรือสิ่งของภายนอก แล้วรีบไปพบแพทย์เร็วที่สุดที่จะทำได้ เพื่อตรวจประเมินอาการ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
          ถ้าน้ำกรดที่ใช้สาดมีความเข้มข้นไม่สูงมาก ภายใน 1-2 วันแผลที่ถูกน้ำกรดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ให้ทำแผลทุกวัน อย่าพยายามลอกสะเก็ดออก หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ หรือถ้ามีอาการบวมแดง เจ็บ มีตุ่มหนองบริเวณแผล ต้องรีบกลับไปพบแพทย์ทันที
          โดยทั่วไปสะเก็ดแผลที่โดนน้ำกรดความเข้มข้นไม่สูงอาจจะลอกออกเองได้ในเวลา 7-10 วัน โดยไม่ทำให้เกิดแผลเป็น (ถ้าไม่มีการติดเชื้อ)
          ถ้าน้ำกรดที่ใช้สาดมีความเข้มข้นสูง แผลที่ถูกสาดอาจไหม้ลึกถึงผิวหนังแท้ ทำให้เกิดการติดเชื้อ มีหนองบริเวณแผลตามมา ควรทำแผลทุกวัน แผลจากการถูกสาดน้ำกรดชนิดเข้มข้นสูงเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นมาก จึงควรดูแลรักษาด้วยแพทย์ บางกรณีอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
          ที่สำคัญที่สุดคือ ควรระวังเป็นอย่างยิ่งไม่ให้กรดเข้าตา หรืออย่าเอามือที่สัมผัสกับกรด หรือผิวหนังที่ถูกกรดมาขยี้ตาเป็นอันขาด การที่กรดมาสัมผัสกับกระจกตา จะทำให้เกิดภาวะกระจกตาขุ่น และมีผลต่อการมองเห็นได้
 


pageview  1205893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved