HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 22/06/2563 ]
สธ.ยังไม่รับอาสาฉีดวัคซีนกันโควิด

 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทยว่า เบื้องต้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานว่า การวิจัยวัคซีนชนิด mRNA คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความคืบหน้าอย่างมาก ทดลองในลิงแล้วได้ผลดี ส่วนวัคซีนชนิด DNA ของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ทดลองในหนูแล้วได้ผลดี เพิ่มภูมิต้านทานได้เช่นกัน จะเดินหน้าทดลองในลิงต่อไปก่อนที่จะทดลองในมนุษย์
          สำหรับงบประมาณสนับสนุนเกี่ยวกับวัคซีนโควิดจะมีการจัดสรรจำนวน 3 พันล้านบาท จากงบประมาณเงินกู้โควิดที่ด้านสาธารณสุขได้รับ 4.5 หมื่นล้านบาทให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทย ทั้งการศึกษาวิจัยภายในประเทศ โครงการนำร่อง (pilot project) ทั้งการลงทุนเองหรือการสนับสนุน การปรับปรุงโรงงาน และละเอียดถึงโรงงานผลิตขวดวัคซีน ถ้าอนาคตค้นคว้าวัคซีนสำเร็จในหลายๆประเทศ ก็จะไม่มีขวดวัคซีนมาใช้อีก ซึ่งช่วงที่มีการระบาดระดับโลกก็มีขาดแคลนเวชภัณฑ์มาแล้ว เป็นเหตุผลที่ สธ.ต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ไทยยืนบนขาตัวเองได้ หากการผลิตวัคซีนโควิดสำเร็จจริงๆ
          ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีน โควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังตรวจภูมิคุ้มกันในลิงที่ได้รับวัคซีนโควิดเข็มแรก พบว่าได้ผลดีนั้น วันที่ 22 มิ.ย.จะฉีดเข็มที่ 2 ในลิงต่อ เพื่อดูเรื่องการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนการทดลองในคนต้องพิจารณาหลายอย่าง คือ 1.อายุ ซึ่งทั่วโลกจะมีอาสาสมัครอายุประมาณ 18-60 ปี แต่บางโครงการก็แบ่งกลุ่มอายุ 18-55 ปี และ 55-70 ปี 2.สุขภาพดี ไม่มีโรคประจาตัว ทั้งนี้ ระยะแรกจะแบ่งอาสาสมัครเป็นกลุ่ม บวกลบประมาณ 100 คน คือ กลุ่มที่มีอายุหลากหลาย และอีกกลุ่มคือ ผู้สูงอายุ เพื่อดูว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิได้หรือไม่ โดยจะมีการให้วัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน และกลุ่มที่ได้วัคซีนเปรียบเทียบ ส่วนระยะที่ 2 จะใช้อาสาสมัครคล้ายกัน แต่เพิ่มจำนวนคนขึ้น
          กรณีข่าวว่ายังหาอาสาสมัครไม่ได้นั้นไม่จริง เพราะโครงการอยู่ในขั้นทดลองในลิง ถ้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ผลดี เราเลือกไปผลิตในโรงงานหมื่นโดสก็จะเตรียมอาสาสมัคร คิดว่าตอนนั้นไม่น่าจะมีปัญหา และตอนนี้ยังไม่ได้เปิดรับอาสาสมัครเพราะยังไม่ถึงระยะเวลา จะทำข้ามขั้นตอนไม่ได้ การจะทดสอบในคนจะมีเงื่อนไข คือ 1.ประสิทธิภาพในสัตว์ทดลองได้ผลดี  2.ข้อมูลความปลอดภัยต้องมากพอ 3.โรงงานผลิตต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 4.สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) มีข้อมูลว่าวัคซีนหรือยามีความปลอดภัยมากพอ และ 5.ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จึงจะประกาศรับอาสาสมัครได้ ส่วนกรณีถ้ามีผู้ใหญ่ในรัฐบาลหรือในกระทรวงจะเป็นอาสาสมัครก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอาสาสมัครได้ ย้ำว่าไม่มีเรื่องสิทธิพิเศษ ทุกอย่างเป็นไปตามกติกาไม่เกี่ยวกับยากดีมีจน หรือมีอำนาจทุกคนควรมีโอกาส และอย่าลืมว่า เราไม่รู้ว่าวัคซีนจะได้ผลหรือไม่ การที่คนมีจิตอาสามาเพราะอยากมีส่วนร่วมพัฒนาวัคซีน


pageview  1205116    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved