HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 22/05/2563 ]
ลุ้นเฟส3-ให้ข้ามจว. เที่ยวได้ ร่นเคอร์ฟิวเที่ยงคืน

 ผ่อนปรนโรงแรม-รีสอร์ต เล็งอนุญาตเปิดกิจการ1มิย. ขรก.ทำเกษตรกรรมเฮเก้อ ชี้ไม่เข้าเกณฑ์เยียวยา5พัน
          ไฟเขียวตามที่สมช.เสนอยืดใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ที่ประชุม ศบค.เปิด 5 ขั้นตอนเตรียมผ่อนปรนเฟส 3 คาดเริ่มได้ต้นมิ.ย. เปิดให้ท่องเที่ยว-เดินทางต่างจังหวัดได้ เล็งเริ่มเคอร์ฟิวเป็นเที่ยงคืนถึงตี 4 พร้อมให้โรงแรม-รีสอร์ตกลับมาเปิดให้คนเข้าพักได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเข้มข้น หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ขรก.ที่ทำเกษตรเฮเก้อ ปลัดกระทรวงชี้ไม่เข้าข่ายได้เยียวยา 5 พัน อึ้งพบรายชื่อคนตายได้สิทธิ์กว่า 1 แสนราย เตรียมหารือว่าจะโอนให้ทายาทได้หรือไม่
          เปิด 5 ขั้นตอนผ่อนคลายเฟส 3
          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลประชุมศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอให้ขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 1 เดือน ในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมี 3 เหตุผล คือ เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข การเตรียมรองรับผ่อนคลายในระยะ ต่อไป และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโลกยังไม่สิ้นสุด จึงต้องเตรียมพร้อมทั้งแผนบริหารวิกฤตฉุกเฉินฯ ที่จะมีคนทยอยเดินทางเข้ามาในประเทศหลังผ่อนคลายมาตรการ ในขณะที่โรคระบาดไม่มีพรมแดน ส่วนที่มีการ เรียกร้องว่าให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่ เราจะเข้าสู่การผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 แต่ถ้าไม่มีกฎหมายมาควบคุมดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรการ ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ซึ่งเหตุผลทั้งหมดนี้เราทำเพื่อคนไทยและประเทศไทย เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนและระยะเวลาการจัดทำมาตรการในระยะที่ 3 แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1.วันที่ 23-24 พ.ค. เป็นการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเตรียมประชุมคณะทำงานผ่อนคลายกิจการและกิจกรรม ตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ ในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 2.วันที่ 25-26 พ.ค. ประชุมคณะทำงานกลั่นกรอง กิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้ มาตรการในการป้องกันและยับยั้ง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 3.วันที่ 27 พ.ค. ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ 4.วันที่ 29 พ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และ 5.วันที่ 1 มิ.ย. มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 มีผลบังคับใช้
          ลดเคอร์ฟิวแต่ไม่ใช่จับกลุ่มดื่ม
          โฆษกศบค.กล่าวว่า ด้านการปฏิบัติการฉุกเฉินด้านความมั่นคง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รายงานสถานการณ์ทั้งการตรวจตามมาตรการหลัก 5 ข้อ มี 90 ชุดตรวจ ชุดตรวจทั่วไป 1,992 ชุดตรวจ ชุดตรวจส่วนกลาง 148 ชุดตรวจ ชุดตรวจอื่นๆ ในชุดตรวจตามคู่มือที่กระทรวงต่างๆ กำหนด และตั้งแต่วันที่ 3-21 พ.ค. มีการปฏิบัติการ 353,495 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการครบ 304,946 แห่ง ปฏิบัติไม่ครบ 43,415 แห่ง ไม่ปฏิบัติตาม 5,134 แห่ง
          นพ.ทวีศิลป์ ตอบข้อซักถามถึงกรณีที่การปรับลดเคอร์ฟิว ว่า ในที่ประชุมศบค.ได้พูดคุยผ่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ระบุว่าหากมาตรการนี้ผ่อนคลายได้ในระยะที่สาม และประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการดื่ม เอะอะ ชุมนุมด้วยเรื่องที่ไม่ดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุผล เพราะถ้าออกมาด้วยเหตุผลเรื่องการค้าขาย เพื่อการขนส่ง เตรียมทำมาหากินอันนี้ไม่ว่ากัน แต่ถ้าเป็นกรณีของการมั่วสุม ก็ต้องขอร้อง ซึ่งเมื่อนำเสนอสถิติต่างๆ ไปแล้วก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงมีโอกาสที่ทางศบค. จะลดช่วงเวลาของเคอร์ฟิวลง ซึ่งจะเป็นเวลาเมื่อไหร่อย่างไรคงต้องรอการประชุมศบค.ครั้งต่อไป เชื่อว่าน่าจะมีเรื่องนี้เข้าได้
          ผับ-สถานบันเทิงอยู่ในระยะที่ 4
          เมื่อถามถึงกรณีผ่อนปรนระยะที่สามจะมีกิจการกิจกรรมใดบ้าง โฆษกศบค. กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่โดยหลักการยังมีความเสี่ยงปานกลางไปถึงสูง ในเรื่องของการติดเชื้อหรือเกิดปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งอาจจะไปดูกิจการกิจกรรมต่างๆ จากตรงนั้นได้ วันนี้ผอ.ศบค. ยังพูดว่าถ้าแบ่งระหว่างระยะที่สามกับระยะที่สี่ ระยะที่สาม อาจจะมีจำนวนก้อนใหญ่กว่ามากที่ต้องพิจารณา ดังนั้นจะเป็นกิจการกิจกรรม ที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือสูงนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองจะต้องไปช่วยกันคิด ในประเด็นของแต่ละกิจการกิจกรรมไป ซึ่งตอนนี้ตนไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไรตรงไหน
          เมื่อถามถึงกรณีผ่อนปรนสถานบันเทิงในระยะที่สี่ ศบค.จะมีคำแนะนำผู้ประกอบการให้จัดเตรียมเพื่อดำเนินกิจการต่างๆ ในอนาคต อย่างไร โฆษกศบค. กล่าวว่า ยึดการใช้หลักการ 5 ข้อเหมือนเดิม ส่วนจะไปคิดต่อเป็นนวัตกรรม หรือเป็นความเหมาะสมกับกิจการอย่างไร ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน ที่จะทำให้ดึงดูดผู้มาใช้บริการและเกิดความปลอดภัย ทำให้เกิดความนิยมที่จะเกิดขึ้นได้ ถือเป็นโจทย์ที่ยาก คงไม่สามารถมาบอกได้ว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
          มาตรการหลัก ยึด 5 ข้อ ส่วนมาตรการเสริมที่อาจจะต้องเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อความเข้มข้นขึ้นสำหรับกรณีสถานบันเทิง เพราะอาจจะต้องมีเรื่องของการโยงเรื่องเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำอย่างไรจะรักษาชีวิตของคนที่ไปที่ร้านให้ได้ โดยไม่ติดเชื้อโควิด-19 เพราะเรามีประสบการณ์จากกรณีสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ บางแห่ง เราจึงต้องเรียนรู้และนำมาใช้ และจะต้องมีมาตรการยิบย่อยซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้ออกเป็นคู่มือปฏิบัติ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ให้มีการยกร่างนำมาประกอบพูดคุยกับองค์กร ชมรม สมาคม ด้านวิชาชีพที่ใกล้เคียงกันร่วมสะสมความคิดแล้วแชร์ ไอเดียก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรอง และศบค.
          เปิดตัว'หมอบุ๋ม'ผู้ช่วยโฆษก
          นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในช่วงท้ายการแถลงข่าวศบค. เปิดตัว หมอบุ๋ม พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศบค.อย่างเป็นทางการ ว่า ช่วงนี้หลายคนเป็นห่วงตนว่ามายืนอยู่ตรงนี้ เพื่อแถลงข่าวศบค.นานแล้ว ตั้งแต่ช่วงวันที่ 26 มี.ค. ที่ได้มีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขณะนี้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้มีดำริที่จะหาคนมาช่วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จึงได้เสนอที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีเอง คือ หมอบุ๋ม พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล มาเป็นผู้ช่วยโฆษกศบค. ตนจึงชวน หมอบุ๋มให้มาแนะนำตัวกับทุกคน และจากนี้คงใช้เวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์ได้เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาคนแถลงข่าวบ้าง โดยตนจะได้เข้าไปเชื่อมโยงในเบื้องต้น ในชุดข้อมูลต่างๆ ให้ผู้ช่วยโฆษกคนใหม่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างดีเพื่อนำเสนอต่อประชาชนได้คงเดิม ทั้งคุณภาพ และเนื้อหาสาระ มีข้อมูลสิ่งใดที่จะได้ช่วยพัฒนา ขอให้ทุกคนช่วยแนะนำเพื่อให้สิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับโควิด-19 ที่จะต้องประกาศเพิ่มเติมไปอีกหนึ่งเดือนกว่านี้ ได้สำเร็จและถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีผลสัมฤทธิ์การทำงานได้ในระดับโลก
          ด้านหมอบุ๋มกล่าวแนะนำตัวว่า "สวัสดี พี่น้องประชาชน ดิฉัน พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล มารายงานตัวในฐานะผู้ช่วยโฆษกศบค. จากนี้จะมาพบเจอกับพี่น้องประชาชนเป็นประจำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน"
          แย้มเฟส 3 เดินทางข้ามได้
          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ศบค. ว่า ที่ประชุมศบค.เห็นชอบตามที่เลขาธิการสมช.เสนอต่ออายุเคอร์ฟิวไปอีก 1 เดือน ซึ่งต้องเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในวันที่ 26 พ.ค. ส่วนการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 นั้น เลขาฯ สมช. จะประชุมในสัปดาห์หน้า ประมาณวันที่ 27-28 พ.ค. และนายกฯ ได้ให้เลขาฯ สมช. ไปพิจารณาผ่อนปรนระยะที่ 3 โดยฝากเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดและเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะเดินทางระหว่างจังหวัด เรื่องการท่องเที่ยว ชุมชน การเข้าพักโรงแรม เปิดห้องพัก เพื่อให้ เศรษฐกิจไหลได้
          "ในศบค.วันนี้ ยังไม่มีการเสนอเรื่องลดเวลาเคอร์ฟิว แต่สมช.จะต้องพิจารณา ไทม์ไลน์ การผ่อนปรนระยะที่ 3 ซึ่งนายกฯ ให้เลขาฯสมช. ในฐานะประธานกลั่นกรองไปพิจารณา โดยบอกว่าให้พิจารณาเรื่องท่องเที่ยวชุมชนให้ด้วยซึ่งรองนายกฯ สมคิด ก็สนับสนุนเพราะเรื่องเศรษฐกิจจะได้ฟื้นฟู อยากผ่อนปรนในประเทศให้ได้มากขึ้น และตั้งตุ๊กตา ให้เป็นโจทย์ไปพิจารณา เรื่องลดเวลาเคอร์ฟิวลงอาจเป็นเที่ยงคืนถึงตี 4 เพราะเห็นว่าประชาชน ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและทางการแพทย์ก็มีความคืบหน้า และนายกฯ ยังบอกเลยว่าเรื่องความมั่นคงนั้น ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงตำรวจทหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางสาธารณสุข จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจเรื่องสถานการณ์ด้านความมั่นคงว่า ปัจจุบันนี้ด้านสาธารณสุขต้องควบคู่ไปกับเรื่อง ทหารตำรวจ" รมว.วัฒนธรรมกล่าว
          ร.ร.ประจำนำร่อง-เปิดเทอมก่อน
          นายอิทธิพลกล่าวว่า ในที่ประชุม นายกฯ แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเปิดเทอมของโรงเรียน โดยรมว.ศึกษาธิการได้รายงานในที่ประชุมว่าจะมีโรงเรียนลักษณะโรงเรียนประจำ และโรงเรียนนานาชาติ เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัย จะมีมาตรการและจะทดลองเปิดก่อนในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ส่วนวันเปิดเทอมอย่างเป็นทางการที่กระทรวงศึกษาธิการขอไว้ก็คือ 1 ก.ค. นายกฯ เป็นห่วงภาพรวมเรื่องการดูแลการเว้นระยะห่างของเด็ก และสัดส่วน ครูต่อนักเรียนเดิม 20:1 ก็จะปรับให้เหลือ 7:1
          สำหรับเรื่องกระทรวงศึกษาฯ ยังไม่ได้เป็นมติของศบค. แต่เป็นเพียงนายกฯ สอบถาม ทางรมว.ศึกษาธิการจึงรายงานเรื่องการเตรียมความพร้อมและได้รับข้อสังเกตข้อห่วงใย จากนายกฯ และศบค.ไปดำเนินการ โดยภาพรวมที่นายกฯ ได้เอ่ยถึงเรื่องโรงเรียนในที่ ประชุมศบค. เนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องที่ได้เห็นกรณีตัวอย่างจากเกาหลี ฝรั่งเศส ที่ได้เปิดโรงเรียนแล้วมีการกลับมาแพร่ระบาด ของโควิด-19 อีก ดังนั้นจึงกลัวว่าอาจจะกลับมาติดได้ ไม่ต้องการให้เกิดความกังวลของ ผู้ปกครอง เพราะโรงเรียนมีความแตกต่าง ไปจากกิจการกิจกรรมที่ได้ผ่อนปรนไปแล้ว เด็กจะมีความใกล้ชิดกันในโรงเรียนอย่างมาก
          รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า มีการรายงานเรื่องการประเมินแต่ละกิจการกิจกรรมที่ผ่อนปรนไปในระยะที่ 2 ซึ่งพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและได้รับความร่วมมือ แต่อาจจะมีบางเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นภาพข่าวที่ไม่ได้เว้นระยะห่าง ซึ่งนายกฯ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพื้นที่ ทางมหาดไทยให้ช่วยไปกำกับ ดูแลด้วย
          ปลื้มกองถ่ายทำตามมาตรการ
          นายอิทธิพลกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด กรุงเทพมหานคร ได้รายงานเรื่องการไปตรวจเยี่ยมกองถ่ายต่างๆ พบว่าภาพรวมได้ปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรน แต่ยังมีบางจุดที่ยังได้รับแจ้งเข้ามาเรื่องการเว้นระยะห่าง ซึ่งโดยภาพรวมของการผ่อนปรนระยะที่ 2 ทุกกระทรวงที่รายงาน ศบค.ได้รับทราบและมีความพอใจ เพราะการฝ่าฝืนมีน้อยมาก และได้ย้ำให้การผ่อนปรนระยะที่ 2 อยู่ในความควบคุมเพื่อนำไปสู่การผ่อนปรนระยะที่ 3 ได้ และนายกฯ ได้เน้นย้ำฝากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาให้ดูเรื่องกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการค้นคว้าวัคซีน
          ในที่ประชุมศบค. นายกฯ ได้ถามหา พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล รองโฆษกศบค. เพื่อให้มาแนะนำตัวต่อที่ประชุม แต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมวันนี้ เนื่องจากอยากให้มา สลับแถลงข่าวกับนพ.ทวีศิลป์ เพราะเห็นว่า ไม่ได้ไปไหนเลยตลอด 7 วัน โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงอาจลดลงแล้วก็จะให้แถลงข่าวโดยระยะเวลากระชับขึ้น โดยให้มีการแถลงข่าวทุกวัน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ โฆษกศบค. หรือรองโฆษกศบค. จะเป็นผู้แถลง นั้นให้พิจารณาตามความเหมาะสม ให้ไปหารือ กันเอง ให้แบ่งเบากัน
          ขรก.ทำเกษตร-อดรับเงินเยียวยา
          วันเดียวกัน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ได้หารือกับกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เกี่ยวกับข้าราชการที่ทำการเกษตรและมีทะเบียนเกษตรกร ซึ่งผลการหารือกันได้ข้อสรุปตรงกันว่า กลุ่มข้าราชการทำการเกษตรจำนวน 9.1 หมื่นคน ไม่สมควรที่จะได้ เงินเยียวยา เพราะเงินเยียวยาครั้งนี้เป็นเงินกู้ ที่รัฐบาลมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือ ความเดือดร้อนในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
          "จะนำเรื่องของข้าราชการที่ทำการเกษตร เสนอที่ประชุมพิจารณา จ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทหรือไม่ แต่เบื้องต้นคาดว่าไม่น่าจ่าย แม้ว่า ในมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดไว้ว่าจ่าย ไม่ได้ ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมข้าราชการถือว่ายังได้รับเงินเดือนปกติ ก็ไม่ควรได้รับเงิน เยียวยาในก้อนนี้" นายอนันต์ระบุ
          นายอนันต์ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีเกษตรกรที่เสียชีวิต 1 แสนราย ซึ่งจะต้องขอดูรายละเอียดขอข้อมูลก่อน เสนอ คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเงินกู้ 1 ล้าน ล้านบาท เพื่อหารือว่า ในส่วนเกษตรกรที่เสียชีวิต ควรให้ทายาทรับเงินเยียวยาแทนหรือไม่ รวมทั้งข้าราชการที่ทำการเกษตร กระทรวงเกษตรฯได้หารือกระทรวงการคลังและคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แล้วเห็นควรนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
          ธ.ก.ส.อึ้งชื่อคนตาย 1 แสนกว่า
          ด้านนายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ ธ.ก.ส. ได้รับจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รอบแรก จำนวน 8.43 ล้านคน โดยเป็นข้อมูลการขึ้นทะเบียนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ซึ่งธนาคารได้นำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับมาตรการช่วยเหลือ ต่างๆ ของรัฐ ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน ระบบประกันสังคม และข้าราชการบำนาญ พบว่า มีผู้ซ้ำซ้อนอยู่ 1.7 ล้านคน ซึ่งได้ส่งข้อมูลดังกล่าวกลับไปให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาการจ่ายเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
          ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้รับข้อมูลชุดที่ 2 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 3.5 ล้านราย ซึ่งธนาคารได้นำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูล ของกระทรวงมหาดไทย พบว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว ทั้งสิ้น 1.09 แสนราย และในกลุ่มนี้มีข้าราชการที่ทำเกษตร จำนวน 9.1 หมื่นราย
          "ธ.ก.ส. จะส่งข้อมูลเกษตรกรที่เสียชีวิตแล้วไปให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาว่าจะจ่ายเงินให้ทายาทของผู้เสียชีวิตหรือไม่ และในส่วนของกลุ่มข้าราชการจะยังไม่มีการจ่ายเงิน 5,000 บาทให้จนกว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยืนยันมาอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย" นายกษาปณ์กล่าว
          นายกษาปณ์กล่าวอีกว่า สำหรับเกษตรกรล็อตที่ 2 ธ.ก.ส. จะเริ่มจ่ายเงินให้ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2563 โดยจะจ่ายวันละ 1 ล้านคน ซึ่ง ธ.ก.ส. จะเร่งโอนเงินในวันเสาร์-อาทิตย์ด้วยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงนี้
          สำหรับข้อมูลเกษตรกรชุดสุดท้าย จำนวน 1.57 ล้านคน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ปิดการขึ้นทะเบียนไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 คาดว่า ธ.ก.ส. จะได้รับข้อมูลเกษตรกรชุดดังกล่าวในวันที่ 27 พ.ค. นี้ และธนาคารจะเร่งตรวจสอบกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30-31 พ.ค. 2563 ถือเป็นการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกร 5,000 บาทในเดือนแรกครบทั้งหมด


pageview  1205083    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved