HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 07/05/2563 ]
ตรวจเชิงรุก8.5หมื่น ไร้อาการ สธ.ลุยค้นหาถึงที่

 พบป่วยใหม่3-ไม่มีตาย 2รายกลับมาจากคาซัคฯ 5จว.ไร้ติดเชื้อนาน28วัน
          'สธ.'ลุยตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด 8.5 หมื่นรายที่ไม่แสดงอาการ เน้น 5 กลุ่ม มีทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ต้องกักแรงงานผิดกม. คนขับรถสาธารณะ พนง.ไปรษณีย์ พร้อม 4 จุดเสี่ยง ชุมชนแออัด ศาสนสถาน สถานีรถโดยสาร และสถานีรถไฟฟ้า เริ่มสัปดาห์หน้า ศบค.แถลงพบติดเชื้อรายใหม่อีก 3 มาจากค้นหาเชิงรุก 1 รายที่ยะลา และอีก 2 รายกลับจากคาซัคสถาน อยู่ในศูนย์กักกันตัว ข่าวดีไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอด 55 รายเท่าเดิม เผย 5 จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 วันติด รวม 39 จังหวัด นักเรียนไทยในแถบละตินอเมริกา จากอาร์เจนตินาและอุรุกวัย รวม 54 คน เตรียมกลับถึงไทย 20 พ.ค. สั่งถอด 'จีน-เกาหลีใต้'ออกจากประเทศเขตติดโรคโควิด
          ป่วยโควิดอีก 3-ไม่มีตายเพิ่ม
          เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 7 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) แถลงถึงสถานการณ์ประจำวันว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,992 ราย ผู้ป่วยหายกลับบ้านได้รายใหม่ 11 ราย รวมกลับบ้านได้สะสม 2,772 ราย เหลือผู้ป่วยใน โรงพยาบาลเพียง 165 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น รวมเสียชีวิตสะสม 55 รายเท่าเดิม
          ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้ง 3 รายพบว่าเป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 59 ปี อาชีพแม่บ้าน ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ยะลา เป็นผู้ป่วยที่พบจากวิธีการค้นหาเชิงรุกจากการเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันจากมาเลเซีย ซึ่งไม่มีอาการใดๆ ส่วนอีก 2 รายอยู่ในศูนย์กักกันผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ เป็นเพศชาย อายุ 46 ปี และ 51 ปี อาชีพรับจ้าง กลับมาจากประเทศคาซัคสถาน มาถึงไทยเมื่อวันที่ 2 พ.ค. และเข้าศูนย์กักตัวฯ ส่วนผู้โดยสารที่กลับมาบนเครื่องบินลำเดียวกัน 55 คน ก็ได้รับการดูแลอย่างดีทั้งหมด
          5จว.ไร้ติดเชื้อใหม่นาน 28 วัน
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันต้องยินดีกับทาง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลำปาง ชัยภูมิ และตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่มีรายงาน ผู้ป่วยยืนยันช่วง 28 วันที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มนี้มีจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็น 39 จังหวัดแล้ว ส่วนจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันช่วง 28 วันที่ผ่านมาแม้จะเหลืออยู่ 29 จังหวัด แต่ก็อยากให้ลดลงไปเรื่อยๆ ขอให้กำลังใจกับทุกจังหวัด
          โฆษก ศบค.กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของโลก ขณะนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อรวม 3,822,860 ราย เสียชีวิต 265,076 ราย อาการหนัก 48,211 ราย หายป่วย 1,302,297 ราย โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง 1,263,092 ราย สเปน ติดเชื้อ 253,682 ราย อิตาลี ติดเชื้อ 214,457 ราย สหราชอาณาจักร ติดเชื้อ 201,101 ราย ฝรั่งเศส ติดเชื้อ 174,191 ราย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ลำดับ 61 ของโลก มีผู้ติดเชื้อ 2,992 ราย และเสียชีวิต 55 ราย
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อใหม่สะสมสูงสุดพบว่ายังเป็นสหรัฐอเมริกา 25,459 ราย บราซิล 10,658 ราย รัสเซีย 10,559 ราย สหราชอาณาจักร 6,111 ราย ฝรั่งเศส 3,640 ราย ส่วนการเสียชีวิต สหรัฐอเมริกาเสียชีวิต 2,528 ราย สหราชอาณาจักร 649 ราย บราซิล 630 ราย อิตาลี 369 ราย เบลเยียม 323 ราย ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชีย อินเดียมีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด 52,987 ราย รองลงมาปากีสถาน 24,073 ราย สิงคโปร์ 20,198 ราย ญี่ปุ่น 15,253 ราย
          54 คนไทยจากละตินกลับบ้าน
          "ขณะที่นักเรียนไทยที่ตกค้างในแถบละตินอเมริกามีการหารือจะนำกลับมา โดยสถานเอกอัครราชทูตกรุงบูเอโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เตรียมนำกลับจากอาร์เจนตินา 52 คน และอุรุกวัย 2 คน จะเดินทางกลับถึงไทยวันที่ 20 พ.ค. โดยใช้เครื่องบินเหมาลำมาประเทศบราซิล ก่อนใช้เครื่องบินพาณิชย์ไปยังเนเธอร์แลนด์ และนำกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง" โฆษก ศบค.กล่าว
          ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวทหารเรือติดโควิด-19 มีความชัดเจนในรายละเอียดอย่างไร โฆษก ศบค.กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานในรายละเอียด เนื่องจากติดร่วมประชุม ศบค.อยู่ ขอส่งคำถามนี้กลับไปที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้หาข้อมูลให้
          'บิ๊กตู่'เตือนอย่าประมาท
          วันเดียวกัน เวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) โดยนายกฯ กล่าวในที่ประชุมว่า วันนี้ประชุมเต็มคณะ ภายหลังการประกาศขยายเวลาการประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกไป ซึ่งนอกจากการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ต้องคำนึงถึงการปรับตัว เพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
          "ถือว่าตอนนี้เป็นช่วงการปรับตัว การเปลี่ยน โดยได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข ความมั่นคง ส่วนตัวพอใจการดำเนินการมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ผู้ติดเชื้อลดน้อยลง แต่อย่าประมาท จะต้องคงมาตรฐานมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดต่อไป ควบคู่กับการทำงานของรัฐบาลที่ยังมีงานและปัญหาต้องแก้ไขต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
          ถอด'จีน-เกาหลี'พ้นเขตติดโรค
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค. มีการพูดถึงเรื่องของต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์ติดเชื้อของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป อย่างประเทศจีนและเกาหลีใต้ควบคุมผู้ป่วยรายใหม่จนเหลือหลักหน่วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เสนอว่าน่าจะมีการปรับรายชื่อ ถอนบางประเทศออกไป จากประเทศเขตติดโรคติดต่อโรคโควิด-19 เพื่อให้มีการทำงานหรือมีความสัมพันธ์ใน เชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ดีต่อไปด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ แต่ต้องนำไปสู่การประชุมหารือและดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนต่างๆ
          "ถ้าปลดตรงนี้ไม่ได้แปลว่าจะเข้าประเทศได้ทันที เพราะมีมาตรการต่างๆ ที่จะจัดการอยู่ ตั้งแต่บินลงมา ซึ่งเราแย้มน่านฟ้าให้ลงได้ แต่ต้องมีขออนุญาต ต้องมีใบรับรองแพทย์ฟิตทูฟลายว่าบินได้ มีการลงทะเบียนก่อน เข้ามาแล้วก็ต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด 14 วัน เรียกว่ามีหลายปราการ ยิ่งประเทศที่มีการติดเชื้อรุนแรงในปัจจุบัน การเข้มงวดระบบการตรวจคนเข้าเมืองสำคัญกว่าการประกาศ ซึ่งถือเป็นระบบที่ใช้ตรึง ทุกวันนี้ก็ยังตรึงไว้อยู่ ตอนนี้สาเหตุติดเชื้อมาจากนำเข้าทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องห่วง เรามองเห็นว่าเป็นประเด็น ถ้ายังไม่ดีเพียงพอไม่ให้นำเข้าแน่นอน" นพ.ทวีศิลป์กล่าว และว่า ส่วนสหรัฐอเมริกาและรัสเซียที่ว่ามีการเปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังไม่อยู่ในลิสต์รายชื่อของไทย มีแค่จีนและเกาหลีใต้
          สธ.ลุยตรวจเชิงรุก8.5หมื่น
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงการตรวจเชื้อโควิด-19 ว่า นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเสนอเป้าหมายว่าต้องตรวจให้ได้ 6 พันรายต่อ 1 ล้านประชากร คิดคำนวณแล้วประมาณ 4 แสนตัวอย่าง ถือว่าไม่มากไม่น้อย อยู่ระดับปานกลาง โดยตั้งแต่ต้นปีตอนนี้เราตรวจได้ 2.3 แสนตัวอย่าง เหลือประมาณ 1.7 แสนตัวอย่าง มีการวางแผนนำมาแบ่งเป็น 1.การตรวจผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ที่มีการขยายกลุ่มคนไม่มีไข้ แต่มีอาการคล้ายหวัดและคนที่ดมไม่ได้กลิ่น คาดว่าจะมีประมาณ 8.5 หมื่นคน และ 2.ค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง เช่นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ต้องกักแรงงานเข้ามาแบบผิดกฎหมาย คนขับรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ส่งของ กลุ่มนี้หาอีก 8.5 หมื่นคน สุ่มกระจายทั่วประเทศเพื่อกวาดคนเสี่ยงเข้าระบบการรักษา
          ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 เริ่มจากการตรวจกลุ่มผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) หากพบผู้ป่วยยืนยันจะตามไปตรวจในกลุ่ม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่บางพื้นที่ยังเจอผู้ป่วยต่อเนื่อง เช่น ภูเก็ต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กทม. ชลบุรี กระบี่บางส่วน ชุมพร เป็นต้น จึงดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก โดยค้นหา ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยๆ และแยกกัก เพื่อตัดวงจรแพร่ระบาด แต่เมื่อเราควบคุมโรคได้ดี ผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ผู้สัมผัสก็น้อยลง การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกก็น้อยลง คำถามคือจะมีคนติดเชื้อในชุมชนโดยไม่มีอาการหรือไม่ จึงนำมาสู่การค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน เช่น กทม. ตรวจ 3 พันกว่าราย เจอ 1 ราย หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบประปรายในอัตราต่ำกว่า 1%
          นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เรามีมาตรการผ่อนปรนกิจการต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนหนึ่งเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนหนึ่งไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างทางกายภาพ พบพฤติกรรมไปแย่งกันซื้ออาหาร สิ่งของที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น สุรา เป็นต้น และพบประชาชนส่วนหนึ่งมีการเบียดเสียดในขนส่งสาธารณะ ทำให้มีประชาชนและนักวิชาการกังวลว่า เราจะมีโอกาสกลับไปสู่สถานะการระบาดระลอกที่ 2 หรือไม่ จึงนำมาสู่เป้าหมายการตรวจเพื่อเฝ้าระวังเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง
          "ถามว่าการเฝ้าระวังเชิงรุกนี้แตกต่างจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างไร ซึ่งการค้นหา ผู้ป่วยเชิงรุก เป็นการหาในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง เช่นมีผู้ป่วยมากกว่า 28 วัน หาสาเหตุไม่ได้ติดมาจากไหน ส่วนการเฝ้าระวังเชิงรุกเป็นการดำเนินการกับประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงทั่วประเทศ และเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการใดๆ เพื่อสร้างความมั่นใจการควบคุมป้องกันโรค สำหรับการดำเนินงานก่อนและระหว่างผ่อนปรน เพื่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและ กทม.มีแนวทางดำเนินการเฝ้าระวังเชิงรุกภายในจังหวัดตนเอง" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าทหารเรือป่วยโรคติดเชื้อโควิดนั้นว่า หากถามว่าทหารเรือจะเสี่ยงหรือไม่นั้น โดยทั่วไปจะมี 2 ส่วนคือส่วนที่ 1คือความเสี่ยงจากการทำงาน และส่วนที่ 2 ความเสี่ยงจากพฤติกรรมชีวิตส่วนตัว หรือส่วนบุคคล เหมือนกรณีที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนของทหารเรือก็จะมีบางส่วนที่มีความเสี่ยงและบางส่วนก็ไม่มีความเสี่ยง เช่นเดียวกัน คือทหารเรือก็เหมือนคนเราคนหนึ่ง เมื่อเวลาถอดชุด ออกแล้ว และใช้ชีวิตส่วนบุคคลที่มีความ เสี่ยงก็จะมีความเสี่ยง
          "อย่างไรก็ตามทหารเรือส่วนหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเรือ ที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดจากคนภายนอกที่ไปสัมผัสกับกรณีที่เรือจอดเทียบท่าเท่านั้นเอง เชื่อว่าในส่วนของทหารเรือมีมาตรการในการดำเนินการอย่างเข้มข้น สำหรับข้อที่เป็นไปตามข่าว ทราบว่า ในส่วนของทหารเรือมีการดำเนินการตามมาตรการที่เป็นมาตรฐานอยู่"
          40 ยะลาไร้ติดเชื้อกลับบ้านได้
          จากกรณี จ.ยะลา ปฏิบัติการเชิงรุก พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 40 ราย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ผลตรวจยืนยันจากแล็บของร.พ.ศูนย์ยะลา ทำให้เกิดการสงสัยว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพราะสาเหตุอะไร จึงส่งผลไปตรวจครั้งที่ 2 ที่ศูนย์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา แต่ผลเป็นลบ ไม่ติดเชื้อ ต้องตรวจซ้ำครั้งที่ 3 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในกทม. ซึ่งผลที่ออกมาเป็นลบเช่นกัน ศบค.ยืนยันว่าทั้ง 40 รายที่ยะลาไม่ติดเชื้อ จากการตรวจสอบแล็บที่ร.พ.ศูนย์ยะลา พบว่าเกิดจากการฟุ้งกระจายในกระบวนการตรวจ ทำให้เกิดผลบวก ขณะนี้ร.พ.ศูนย์ยะลาปิดแล็บเพื่อปรับปรุงแล้ว
          วันเดียวกันนี้ที่ร.พ.สมเด็จพระยุพราชยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา นพ.ทินกร บินหะยี อารง ผอ.ร.พ.สมเด็จพระยุพราชยะหา พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ อนุญาตให้ผู้ที่เข้ารับการรักษา จำนวน 24 ราย จากก่อนนี้ผลตรวจจากแล็บร.พ.ศูนย์ยะลาเป็นบวก 40 ราย กลับบ้านได้แล้ว ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการตรวจเชื้อรอบสามยืนยันเป็นลบจากการแถลงของศบค.
          โดย นพ.ทินกรพบปะและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน พร้อมมอบคู่มือ มอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้ทุกคน เพื่อเป็นกำลังใจ ซึ่งทั้ง 24 รายเป็นราษฎรใน ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา รู้สึกดีใจที่ไม่ติดเชื้อ และได้กลับบ้าน
          สำหรับทั้ง 40 ราย แยกเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่างๆ ประกอบด้วย ร.พ.ศูนย์ยะลา 4 ราย ร.พ.สมเด็จพระยุพราชยะหา 24 ราย ร.พ.บันนังสตา 7 ราย ร.พ.รามัน 5 ราย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วทั้งหมด
          ทั่วโลกติดเชื้อแล้ว 3.8 ล้าน
          วันเดียวกัน เวิลด์โอมิเตอร์ เว็บไซต์รวบรวมสถิติแบบเรียลไทม์ในสหรัฐอเมริกา รายงานความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ว่า ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 3,812,707 คน จำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 264,128 ราย และรักษาหาย 1,291,937 คน
          โดยสหรัฐอเมริกายังมีผู้ป่วยสะสมและ ผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,258,051 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 20,418 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 1,929 คน ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวม 74,200 คน สหราชอาณาจักรมีผู้ป่วยใหม่ 6,111 คน รวมยอดติดเชื้อสะสม 201,101 คน ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 649 คน รวมยอดเสียชีวิต 30,076 คน ด้านรัสเซียมีผู้ป่วยใหม่รายวันเพิ่มมากถึง 10,559 คน ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 165,929 คน เสียชีวิต 1,537 คน บราซิลติดเชื้อเพิ่มถึง 10,503 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 125,218 คน เสียชีวิต 8,536 คน และอิหร่านมีผู้ป่วยใหม่รายวัน 1,680 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมทะลุแสนแล้วที่ 101,650 คน เสียชีวิต 6,418 คน
          ส่วนเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ยังรั้งอันดับ 1 มีผู้ติดเชื้อสะสม 20,198 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 788 คน เสียชีวิตแล้ว 20 คน อินโดนีเซีย อันดับ 2 ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 12,438 คน เสียชีวิตมากถึง 895 คน ฟิลิปปินส์มีผู้ป่วยเพิ่มเป็น 10,004 คน และเป็นประเทศล่าสุดที่มีผู้ติดเชื้อทะลุหมื่นคน เสียชีวิต 658 คน มาเลเซียป่วยสะสม 6,428 คน เสียชีวิต 107 คน เวียดนามป่วยสะสม 271 ไม่พบผู้เสียชีวิต พม่ามีผู้ติดเชื้อสะสม 161 คน เสียชีวิตคงที่ที่ 6 คน บรูไนป่วยสะสม 139 คน เสียชีวิต 1 คน กัมพูชาติดเชื้อสะสมเท่าเดิมที่ 122 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต และสปป.ลาว ไม่พบผู้ป่วยใหม่รายวันต่อเนื่องเป็นวันที่ 25 ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสะสมคงที่ที่ 19 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต


pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved