HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 04/09/2562 ]
อาการถ่ายเป็นเลือด ริดสีดวงหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

หากขับถ่ายแล้วมีเลือดออก หลายคนมักคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร ไม่ทันคาดคิดว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของเนื้องอกหรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
          ศ.(พิเศษ) นพ.อัฑฒ์ หิรัณยากาศ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผู้อำนวยการคลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศูนย์ศัลยกรรม ร.พ.กรุงเทพ กล่าวว่า เมื่อมีเลือดออกปนมากับอุจจาระ คนส่วนใหญ่อาจคิดเองว่าเป็นอาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งริดสีดวงทวารหนักคือ กลุ่มของหลอดเลือดบริเวณทวารหนักที่มีลักษณะโป่งพอง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
          ริดสีดวงทวารหนักภายใน ตามปกติจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น คลำไม่ได้ และมักจะถูกคลุมด้วยเยื่อลำไส้ใหญ่ตอนปลายสุดจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในขณะที่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อน
          ส่วนริดสีดวงทวารหนักภายนอก จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ อาจมีอาการเจ็บปวด อาการของโรค อาจพบได้ตั้งแต่รู้สึกไม่สุขสบายบริเวณทวารหนัก คลำได้ก้อน อาการปวด อาการคัน หรืออาจมีเลือดสดติดกระดาษชำระขณะเช็ดทำความสะอาด พบเลือดในโถส้วม หรือปนออกมากับอุจจาระ
          สำหรับมะเร็งลำไส้ตรงหรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย คือมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ใกล้กับทวารหนัก พบได้บ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่เป็นโรคอาจแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น ถ่ายมีเลือดสดปนกับอุจจาระ หากเป็นมากอาจมีก้อนอุจจาระขนาดเล็กลง ท้องผูก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ซึ่งอาการแสดงขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน และตำแหน่งของก้อนมะเร็งที่พบ
          อาการของริดสีดวงทวารที่แตกต่างจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย คือ ถ่ายเป็นเลือด อาจคลำได้ก้อนเนื้อในรูทวารหนัก อาจมีก้อนเนื้อปลิ้นและยุบกลับเข้าไปทวารหนักได้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะไม่มีก้อนเนื้อปลิ้นออกมา อาจมีอาการปวดก้น มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะไม่มีอาการปวดก้น ถ่ายไม่ค่อยออก ต้องเบ่ง หรือถ่ายบ่อย คันหรือระคายเคืองรอบปากทวารหนัก เจ็บ เป็นต้น
          การรักษาโรคริดสีดวงขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ประกอบด้วย 2 วิธีหลักใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ผ่าตัด และ 2.ไม่ผ่าตัด
          แต่ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะเป็นวิธีที่ช่วยแยกโรคให้ชัดเจนขึ้นเพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม หากก้อนมะเร็งอยู่ตรงบริเวณกล้ามเนื้อหูรูด แพทย์จะทำการล้วงเข้าไปบริเวณทวารเพื่อตรวจตำแหน่งของก้อนมะเร็ง จากนั้นทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา
          ปัจจุบันมีการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ด้วยเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แบบเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ต้องขับถ่ายผ่านทางถุงหน้าท้องไปตลอดชีวิต หากต้องผ่าตัดแบบเดิม
          การผ่าตัดในรูปแบบนี้จะใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเป็นหลัก ซึ่งการผ่าตัดเก็บกล้ามเนื้อหูรูด ต้องอาศัยความร่วมมือกันของแพทย์ผู้ชำนาญการและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะการร่วมกันวิเคราะห์โรคและสรุปแนวทางการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมแบบสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร อายุรแพทย์มะเร็ง รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา พยาธิแพทย์ จะทำให้ได้แผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การรักษาโรคนี้ด้วยการฉายรังสีร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนการผ่าตัดรักษา จะเพิ่มโอกาสการผ่าตัดเก็บกล้ามเนื้อหูรูดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ไม่ต้องใช้การขับถ่ายผ่านถุงหน้าท้อง
          หากสังเกตเห็นเลือดออกจากทวาร หนักควรตื่นตัว และเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง


pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved