HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 14/05/2555 ]
ย้อนชีวิตเด็กดอย ฝ่าฟันสู่'หมอฟัน'

  "เมื่อตอนอายุ 4 ขวบ ปวดฟันอย่างรุนแรง เอาแต่นอนร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน พ่อกับแม่ไม่รู้ จะทำอย่างไรจึงเอายาสมุนไพรหรือยาแก้ปวดเท่าที่มีอยู่บดเป็นผงอุดไปที่ฟันที่ผุ โรงพยาบาลก็อยู่ไกล พ่อแม่ต้องช่วยกันแบกดิฉันใส่หลังเดินลงมาจากบ้านที่อยู่บนเขา เพื่อมาถอนฟันที่โรงพยาบาลทุ่งช้าง
          ด้วยทุนในโครงการพระเมตตาสมเด็จย่าที่เปลี่ยนชีวิตดิฉัน เกือบ 1 ปีจึงจบการศึกษาจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ขอนแก่น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาธารณสุขศาสตร์ (ทันตสาธารณสุข) จากชีวิตที่ยากลำบากทำให้จดจำวัยเด็กได้เป็นอย่างดี"
          เรื่องราวของ น.ส.พัชรินทร์ กล้าพิทักษ์ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านปางแก อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน จากเด็กหญิงชาวเขาเผ่าม้ง ที่อาศัยบ้านหลังเล็กๆ กับพ่อแม่พี่น้องรวม 8 ชีวิต ในบ้านชั้นเดียวสภาพแทบจะเรียกว่าบ้านก็ไม่ได้ ฝนตกหลังคารั่ว ยามค่ำคืนมีเพียงตะเกียงเล็กๆ แสงริบหรี่ วันนี้เสื้อกาวน์สีขาวสะอาดที่สวมใส่เทียบไม่ได้กับตอนเด็กที่แทบไม่มีเสื้อผ้าใส่ เดินเท้าเปล่า รับจ้างแบกกะหล่ำปลี ได้เงินวันละ 10-20 บาท เรื่องเงินซื้อขนมไม่ต้องหวังว่าจะมีโอกาส แต่ทั้งตนเองและน้องๆ ก็มีฟันผุและปวดฟันอยู่บ่อยครั้ง
          พัชรินทร์เล่าต่อว่า หมู่บ้านมณีพฤกษ์ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงห่างไกลจากโรงพยาบาลทุ่งช้างราว 59 กิโลเมตร ถนนเข้าออกหมู่บ้านเป็นดินลูกรัง ในหมู่บ้านมีรถยนต์เพียง 2 คัน เวลาเจ็บไข้การเดินทางมาโรงพยาบาลช่วงหน้าฝนเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับชาวเขาพื้นที่สูง หากโชคดีก็ได้รับการรักษาทันท่วงที แต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตระหว่างทาง
          "เด็กทุกคนในหมู่บ้านรวมทั้งฉันต้องไปหาบน้ำในลำห้วยมาใช้ในครอบครัว ยิ่งช่วงหน้าหนาวตื่นเช้ามามองเห็นแม่คะนิ้งสีขาวเต็มไปหมด เด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้านขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มและเสื้อกันหนาว วิธีที่ดีที่สุดคือรวมกลุ่มนั่งผิงไฟ ใช้น้ำมันหมูทาผิว ซึ่งทำให้ผิวของฉันและเด็กคนอื่นๆ แห้งแตกมีเลือดซึมออกมา"
          ฉันเองเกือบไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะพ่อแม่ให้พี่คนโตเลี้ยงน้อง แต่น้องสาวไม่เรียนฉันจึงมีโอกาส ตอนเรียนชั้นประถมไม่ใช่เรื่องง่าย แม้บ้านกับโรงเรียนอยู่ใกล้กัน ฉันต้องอุ้มน้องใส่หลังไปโรงเรียนทุกวัน บางวันพาน้องไปเลี้ยงที่โรงเรียนถึง 2 คน มือหนึ่งอุ้มน้องคนที่ 1 บนหลังแบกน้องอีกคนไว้ เวลาน้องร้องไห้งอแงหรือง่วงนอนจะขออนุญาตครูออกไปข้างนอกห้อง กล่อมน้องให้หยุดหรือหลับค่อยเข้ามาเรียนต่อ อาหารมื้อกลางวันแทบไม่ได้กิน ต้องป้อนข้าวป้อนน้ำให้น้องๆ อิ่มก่อน เหลือถึงจะได้กิน
          หลังเลิกเรียนต้องทำอาหารดูแลน้องๆ ทุกคน ต้องทำงานบ้านทุกอย่าง รวมทั้งเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ บางครั้งต้องรีบไปช่วยเก็บข้าวโพดจากไร่ด้วย ฉันเองคิดอยู่ว่าทำไมชีวิตคนหนึ่งคนถึงมีอุปสรรคมากมาย ที่เล่ามานี่ยังไม่หมด และเชื่อว่ายังมีเด็กชาวเขาหลายคนมีชีวิตที่ไม่แตกต่างจากฉัน
          หลังจบชั้นป.6 ไปเรียนต่อที่โรงเรียนทุ่งช้างในตัวอำเภอ วันที่ไปสมัครเรียนต้องตื่นตั้งแต่ตีสาม เพราะไม่มีรถ พ่อพาเดินลงเขาจากหมู่บ้านมาสมัครที่โรงเรียนและเดินกลับในวันเดียวกัน ทั้งเหนื่อยและลำบาก สงสารพ่อ คิดในใจว่าจะต้องตั้งใจเรียนให้จบและจะไม่ทำให้พ่อกับแม่เสียใจ
          ชีวิตวัยมัธยมศึกษาอาศัยหอพักในโรงเรียนก็ลำบากเหมือนเดิม ต้องเอาข้าวสารและผักมาจากบ้านแล้วหุงกินเอง ต้องทำงานช่วยเหลือตนเองและลดภาระครอบครัว เช่น ซักผ้า รีดผ้า ทำงานบ้านให้อาจารย์ ได้เงินครั้งละ 50-100 บาทต่อสัปดาห์ นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์การเรียน
          พัชรินทร์กล่าวต่อว่า ฝันของฉันอยากเป็นพยาบาล เพราะคนในหมู่บ้านมีปัญหาเรื่องภาษาในการสื่อสาร การเดินทางมาโรงพยาบาลเป็นเรื่องลำบาก หมอพูดก็ฟังไม่ออก ไม่เข้าใจ จึงเป็นแรงบันดาลใจ แต่ปัจจัยหลายอย่างทำให้ท้อแท้ ไม่มีความหวังกับการเรียนต่อ ยิ่งใกล้จบชั้นม.6 ก็เริ่มหมดหวังลงเรื่อยๆ เพราะฐานะทางบ้านยากจน
          หลังทราบข่าวว่ามีโควตาทันตาภิบาลของอำเภอทุ่งช้าง เปิดรับสมัคร 1 ตำแหน่ง ถ้าเรียนจบจะมีตำแหน่งรองรับและทำงานที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน ตอนนั้นไม่ได้หวังอะไรแต่เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี จึงไปสมัครสอบพร้อมกับเพื่อน โชคดีที่สอบได้อันดับ 1 และมีโอกาสเรียนต่อด้วยทุนในโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ทำให้ฉันมาเรียนไกลบ้านถึงจ.ขอนแก่น คิดอยู่เสมอว่าเมื่อมาถึงจุดนี้แล้วต้องก้าวผ่านไปให้ได้ ท้อได้แต่อย่าถอย ยอมรับว่ากดดันมาก
          โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านปางแก สถานที่ทำงานแห่งแรกของฉันซึ่งห่างจากหมู่บ้าน 20 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งและเป็นญาติพี่น้องกัน
          ก่อนไปเรียนฉันตั้งใจกลับมารักษาคนที่นี่ ไม่ให้เด็กปวดฟันและไม่มีใครรักษาให้เหมือนตอนที่ฉันยังเด็กอีก ก็เป็นจริงขึ้น ฉันจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และช่วยดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
          พ่อสอนว่าการทำงานใดๆ ย่อมมีปัญหา ให้อดทนตั้งใจทำให้ดีที่สุดก็พอ ปฏิบัติต่อผู้อื่นเสมือนอย่างที่เราปรารถนาให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา
          "ชีวิตที่ลำบาก คือชีวิตที่งดงาม" คำกล่าวของ น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว ยังติดอยู่ในหัวฉัน และฉันแอบหวังว่าชีวิตดิฉันจะงดงามขึ้นเรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมาได้ต่อสู้จนสุดกำลังของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ชีวิตจริงอาจไม่เหมือนดังคาดหวัง
          ฉันเป็นเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ของวงการสาธารณสุขไทยที่ใกล้ชิดชาวบ้าน และมาจากรากหญ้าอย่างแท้จริงทั้งชีวิตและจิตใจ ความหวังเล็กๆ เพียงขอมีงานที่มั่นคง ได้เลี้ยงดูพ่อแม่และน้องๆ ตามสมควร รับราชการตำแหน่งเล็กๆ และก้าวหน้าตามระบบ
          "ผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลายช่วยหนูอีกนิดเถอะ ให้ความหวังเป็นจริงสักครั้ง เมล็ดพันธุ์พืชต้องการน้ำ ปุ๋ย และการดูแลฉันใด เมล็ดพันธุ์ของวงการสาธารณสุข หมอฟันตัวน้อยยังคอยความหวังนั้นเช่นกัน
          กระทรวงสาธารณสุขไม่ควรทำแต่เรื่องสุขของสาธารณะ เพราะสุขภาวะของคนทำงานเป็นประตูสู่สุขภาพชุมชนที่ดีเช่นกัน"

 


pageview  1206043    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved