HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ข่าวสด [ วันที่ 25/01/2562 ]
งดจุดธูปเทศกาลตรุษจีน-ลดฝุ่นควัน

 'ศาลเจ้า'วอนร่วมมือ คพ.ถกแผนเตือนภัย
          ศาลเจ้าประกาศเตือนงดจุดธูปเทียนเพื่อช่วยลดฝุ่นพิษ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากช่วงอยู่ใกล้เทศกาลตรุษจีนแต่หากไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็พอรับได้ เลยต้องใช้วิธีเก็บธูปเทียนที่จุดแล้วให้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ไหม้จนหมด ขณะที่คณะกรรมการควบคุมมลพิษเสนอแผนแก้ฝุ่นพิษ ให้อำนาจผู้ว่าฯกทม.ประกาศพื้นที่คุมมลพิษหาก 75 มคก./ลบ.ม และหากรุนแรงเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้เรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หาทางรับมือวิกฤต 'คพ.' รายงานฝุ่นพิษกทม.-ปริมณฑลเกินมาตรฐาน 5 จุด
          เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง ย่านพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ มีประชาชนจำนวนมากเข้ามากราบไหว้ศาลเจ้า เนื่องจากใกล้เข้าช่วงเทศกาลตรุษจีน ประชาชนชาวไทยที่มีเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ ต่างพาอากงอาม่า เข้ามากราบไหว้ศาลเจ้าไต้ฮงกง
          ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าติดป้ายบอกประกาศถึงกรณีเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มประชา สัมพันธ์ให้ "งดจุดธูป" เพื่อลดผลกระทบฝุ่นละอองอีกทางหนึ่ง โดยเริ่มรณรงค์ให้ "งดจุดเทียน" ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง
          จากการสอบถาม ประชาชนส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยเนื่องจากปีนี้ใกล้เทศกาลตรุษจีนแล้ว จะห้ามจุดธูปเทียนนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ดูเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกินไป คือการสั่งไม่ให้จุดธูปเทียนถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาล ประชาชนยังพอรับได้บ้าง แต่ถ้าไม่ให้จุดช่วงเทศกาลตรุษจีนคงยาก ประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่กราบไหว้ศาลเจ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อสอนให้รู้จักกตัญญูรู้คุณคน การไหว้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย นั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งประเพณีดังต่างๆ จะทำให้พี่น้องที่ไปทำงานต่างถิ่นกลับมาพบเจอกันและทำให้รักใคร่ปรองดองกันมากขึ้นอีกด้วย
          ขณะที่เจ้าหน้าที่ศาลเจ้าต่างช่วยกันอธิบายเกี่ยวกับเรื่องงดจุดเทียนให้กับประชาชนเข้าใจ แต่ส่วนใหญ่ยังคงจุดธูปเทียนกันอยู่เนื่องจากเป็นประเพณีที่มีมาช้านาน ทางเจ้าหน้าที่ศาลเจ้าต่างแก้ปัญหาโดยเก็บธูปเทียนให้เร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ธูปไหม้หมดแท่ง ซึ่งต่างจากแต่ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะปล่อยให้ธูปหมดก่อนจึงสามารถเก็บทิ้งได้ ทั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้นของการรณรงค์ในครั้งนี้
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนบางส่วนที่เป็นเด็กยุคใหม่คนไทยเชื้อสายจีน หากไม่ให้มีการจุดธูปจุดเทียนนั้น ส่วนหนึ่งไม่มีปัญหาและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างดีเนื่องจากรับรู้ถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หากช่วยได้ก็จะช่วย
          วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีค่าฝุ่นอยู่ที่ 36-70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งค่าฝุ่นตามมาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลาง ถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ที่เกินมาตรฐานค่าฝุ่นละออง ได้แก่บริเวณต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม, ต.คลองหนึ่ง อ.คลอง หลวง จ.ปทุมธานี, ต.ทรงคนอง อ.พระประ แดง จ.สมุทรปราการ, ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร, ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
          ทั้งนี้ กรมควบคมมลพิษ ขอความร่วมมือประชาชนในการช่วยลดฝุ่นละอองอย่างเข้มงวด ด้วยการห้ามใช้รถยนต์ควันดำอย่างเด็ดขาด ห้ามการเผาในที่โล่งทุกประเภทอย่างเด็ดขาด รวมถึงขอความร่วมมือในการลดการใช้รถยนต์โดยสารส่วนบุคคลด้วย ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด อย่าตื่นตระหนก กลุ่มคนทั่วไปสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็ก คนชรา หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว หมั่นสังเกตอาการ หากผิดปกติให้ไปพบแพทย์ โดยสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศทันสถานการณ์ ผ่านเว็บไซต์ www.air4thai.pcd.go.th และ แอพพลิเคชั่น air4thai
          วันเดียวกัน ที่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
          หลังการประชุม นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมมีการเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยจะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ หากปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกิน 75-100 มคก./ลบ.ม. ให้ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 28/1 วรรค 2 แห่งพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ประกาศกำหนดให้เขตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และหากสถานการณ์ฝุ่นละอองมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้เรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขผลกระทบจากฝุ่น PM/2.5 เป็นการเฉพาะ ก่อนจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจหรือข้อสั่งการเพื่อลดมลพิษทางอากาศให้ลดลงและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
          นายประลองกล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์แก้ปัญหา PM2.5 และจากการประชุมครั้งนี้ มีข้อเสนอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือแม้แต่คพ.ให้ส่งแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาหากฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 75-100 มคก./ลบ.ม. เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้ว่าฯ กทม.ว่าจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไร โดยกำชับให้หน่วยงานเร่งส่งแผนโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม กทม.มี 50 เขต ซึ่งค่าฝุ่นไม่ได้เกินมาตรฐานในทุกเขต การควบคุมประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญซึ่งสามารถสั่งยุติกิจกรรมที่ก่อมลพิษเป็นดุลพินิจของผู้ว่าฯกทม. รวมทั้งให้มีการระดมสรรพกำลังจากเขตอื่นๆ มาร่วมแก้ปัญหาด้วย
          อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ ในการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM/2.5 ในระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง โดยที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้
          ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์จากคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ในฐานะอดีตอธิบดีคพ. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ปรับแก้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ให้เท่ากับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ย PM 2.5 ของประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ คือ50 มคก./ลบ.ม. ในอนาคตไทยมีโอกาสปรับค่ามาตรฐานได้หากรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ การจราจรคล่องตัว มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำมันให้เข้ามาตรฐานยูโร 5-6 ที่ผ่านมาประเทศไทยปรับค่ามาตรฐานในสารมลพิษหลายตัวมาแล้ว ซึ่งต้องดูความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ซึ่งให้อำนาจรมว.ทรัพยากรฯ กำหนดค่ามาตรฐานโดยคำนึงถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยีควบคู่ กันไป
          นายสุพัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับค่ามาตร ฐานแนะนำ PM 2.5 ราย 24 ชั่วโมง ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนั้นมีอยู่ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับเป้าหมายที่ 1 คือไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ระดับเป้าหมายที่ 2 จะเข้มข้นมากขึ้นเป็น 50 มคก./ลบ.ม. และระดับเป้าหมายที่ 3 อยู่ที่ 35 มคก./ลบ.ม. จากนั้นจะเข้าสู่คำแนะนำเข้มข้นที่สุดที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. โดยค่าเกณฑ์ขึ้นกับแต่ละประเทศจะเลือกใช้เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง
          "แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐ ซึ่งใช้ค่าฝุ่นราย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายนี้อย่างแท้จริง โดยค่าเฉลี่ยของสหรัฐ อยู่ที่ 35 มคก./ลบ.ม. ขณะที่สหภาพยุโรป ค่าฝุ่นละอองรายปีอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก ตั้งไว้อยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม. ซึ่งยังไม่มีประเทศใดในโลกสามารถทำตามเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกได้" นายสุพัฒน์กล่าว
          นายสุพัฒน์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำหนดค่าฝุ่นละอองรายปี อยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2 ซึ่งปี 2561 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 26-27 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกือบทำตามเป้าหมายได้ เชื่อว่าแนวโน้มในอนาคตค่าฝุ่นละอองจะดีขึ้นในระยะยาว สำหรับค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 75 มคก./ลบ.ม. ถือว่ายังไม่รุนแรงหากเทียบกับปีที่ผ่านมาที่สูงถึง 130 มคก./ลบ.ม, โดยจากนี้มาตรการควบคุมจะช่วยให้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น
          ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินจริง จนประชาชนแตกตื่น จะมีมาตรการอย่างไร นายสุพัฒน์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินทางกฎหมายกับเพจที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน


pageview  1205105    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved