HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 11/04/2555 ]
วิศวะมอ.ผลิตเท้าเทียมขยับได้ช่วยลดรายจ่ายผู้พิการขาขาด

 จากการสำรวจความพิการของคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีผู้พิการมากถึง 1.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มี "ผู้พิการขาขาด"มากกว่า 50,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่หรือประมาณ 45% ของผู้พิการขาขาด เกิดจาก อุบัติเหตุทางการจราจร 25% เกิดจาก การเหยียบกับดักระเบิด อีก 20% เกิด จากแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10% เป็นความผิดปกติมาแต่กำเนิดและปัญหาสุขภาพอื่นๆ
          ขณะที่พบว่าเท้าเทียมสำหรับผู้พิการขาขาดที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศยังไม่สามารถช่วยการเดินได้อย่างสมบูรณ์ เพราะเท้าเทียมทั่วไปไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวข้อเท้าระหว่างการเดินได้ ราคาอยู่ที่ 40,000 บาท ส่วนเท้าเทียม ที่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนจริงนั้น มีจำหน่ายในต่างประเทศ ราคาประมาณ 420,000-630,000 บาท แต่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของอุปกรณ์และ ราคาแล้วจะเห็นได้ว่ามีความ แตกต่างกันมาก ดังนั้น โครงการเท้าเทียมขยับได้จึงเกิดขึ้น โดย มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างต้นแบบและออกแบบระบบควบคุมการเคลื่อนที่ของเท้าเทียมให้ช่วยการได้เป็นปกติมากยิ่งขึ้น และมีราคาถูกกว่า ที่จำหน่ายในต่างประเทศ
          เท้าเทียมขยับได้เป็นผลงานของนายอุกฤษฎ์ ชำมรินักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า แนวคิดในการประดิษฐ์ผลงานเกิดจากความรู้สึกเห็นใจ ผู้ป่วยอุบัติเหตุ ที่จำเป็นต้องใช้เท้าเทียม ซึ่งเท้าเทียมมีสองแบบ คือแบบที่ขยับได้และแบบที่ขยับไม่ได้ ถ้าเป็นแบบขยับได้จะเป็นของต่างประเทศ จากเยอรมนี ไต้หวัน ญี่ปุ่น เท้าเทียมของต่างประเทศมีราคา 4-5 แสนบาท จึงอยากช่วยเหลือ ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ลดค่าใช้จ่าย ประดิษฐ์เท้าเทียมที่ขยับได้ขึ้นและจำหน่ายในราคาที่ถูก รวมถึงช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศด้วย
          "อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นจะใช้กับผู้ป่วยที่ขาขาดใต้เข่า จะมีตัวอุปกรณ์วัดมุม เป็นเซ็นเซอร์ วัดมุมการเคลื่อนที่ของแกนขา ผู้ป่วยขณะแกว่ง แล้วปรับมุมข้อเท้า ตามการเดิน ควบคุมการทำงานด้วยไมโครคอนโทรเลอร์ มีมอเตอร์เป็นตัวทำงาน ใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จได้เป็นแหล่งพลังงาน ขั้นตอนต่อไปจากนี้ ต้องลองทดสอบ ดีไซน์และปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะนำมาใช้กับผู้ป่วย รวมทั้งทดสอบความทนทาน โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน สำหรับข้อดีของเท้าเทียมที่ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อเปรียบเทียบ กับเท้าเทียมทั่วไป คือ การควบคุมการขยับของเท้าแบบเป็นอัตโนมัติ เมื่อผู้ป่วยเดิน สามารถปรับมุมได้ตามการเดินของผู้ป่วย ผู้ป่วยยังสามารถควบคุมการปิดเปิดเองได้ด้วยสวิตช์ สิ่งประดิษฐ์นี้ช่วยให้การเดินทางราบของผู้ป่วยเป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งที่ระยะ เวลา 1 วัน" นายอุกฤษฎ์กล่าว และว่า เท่าที่คุยกับอาจารย์แพทย์ ห้องกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ น้ำหนัก ของเท้าเทียมใต้เข่าประมาณ 2 กิโลกรัม ผู้ประดิษฐ์ก็ได้เปลี่ยนอุปกรณ์บางส่วนให้ มีน้ำหนักเบาลง
          ปัจจุบันเท้าเทียมที่ประดิษฐ์ขึ้นมี น้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกลัม ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร และได้เลขคำขอสิทธิบัตรแล้ว เมื่อได้สิทธิบัตรแล้ว ก็จะผลิตเพื่อจำหน่ายต่อไป


pageview  1205944    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved