HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 02/04/2555 ]
ระบบหายใจ

 พญ. มุทิตา กันโอภาส
          วิสัญญีแพทย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
          การหายใจเป็นกระบวนการในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปซึ่งร่างกายต้องการออกซิเจน เพื่อการเจริญเติบโต การย่อยสลายสารอาหาร และกระบวนการเมตาบอลิซึม ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างและสลายพลังงาน ผลผลิตของกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะถูกขับออกจากร่างกายโดยการหายใจออก
          โครงสร้างของระบบหายใจประกอบด้วยทางเดินหายใจส่วนต้น เริ่มตั้งแต่รูจมูกถึงสายเสียง
          1. รูจมูก (Nostrill) เป็นทางผ่านเข้าของอากาศ
          2. ช่องจมูกหรือโพรงจมูก (Nasal cavity) เป็นโพรงที่ถัดจากรูจมูกเข้าไปซึ่งติดต่อกับคอหอย จะมีขนเส้นเล็กๆและต่อมน้ำมันช่วยกรองและจับฝุ่นละอองไม่ให้ผ่านลงสู่ปอดและทำหน้าที่ปรับความชื้นและความอบอุ่นแก่อากาศที่หายใจเข้าให้เหมาะสมกับอุณหภูมิร่างกาย
          3. โพรงอากาศ (Sinuses) เป็นส่วนหนึ่งของกะโหลกศีรษะมีอยู่ 4 อัน อากาศที่ผ่านมาทางช่องจมูกจะต้องผ่านโพรงอากาศก่อนจึงจะเข้าไปที่ปอด เกี่ยวข้องกับการช่วยทำให้ลมหายใจอุ่นขึ้น และทำให้เสียงมีความกังวาน
          4. คอหอย (Pharynx) เป็นบริเวณที่พบกันของช่องอากาศจากจมูก ช่องอาหารจากปาก
          5. กล่องเสียง (Larynx) เป็นส่วนของกระดูกอ่อนหลายๆ ชิ้นมารวมกันเพื่อควบคุมการหายใจเข้าและหายใจออก ป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในหลอดลมและมีสายเสียงช่วยควบคุมเสียงที่เกิดขึ้น ทางเดินหายใจส่วนปลาย เริ่มตั้งแต่สายเสียงถึงปอด
          6. หลอดลม (Trachea) เป็นหลอดยาวตรง มีกระดูกอ่อนเรียงเป็นรูปเกือกม้าติดอยู่จึงทำให้หลอดลมไม่แฟบลง จากนั้นต่อกับขั้วปอด (Bronchus ) ซึ่งเป็นส่วนของหลอดลมที่แยกออกเป็นกิ่งซ้ายและขวาเข้าสู่ปอด และแตกแขนงเป็นหลอดลมฝอย (Bronchiole) เป็นแขนงของท่อลมที่แยกออกไปมากมายแทรกอยู่ทั่วไปในเนื้อปอด ซึ่งจะไปสิ้นสุดที่ถุงลม (alveolus) ซึ่งเป็นแหล่งในการแลกเปลี่ยนก๊าซ ภายในปอดของคนมีจะถุงลมเล็กๆประมาณ 300 ล้านถุง
          7. ปอด (Lung) ปอดมีอยู่สองข้าง มีรูปร่างคล้ายกรวย ระหว่างปอด 2 ข้าง จะพบว่ามีหัวใจอยู่ ปอดข้างขวาจะโตกว่าปอดข้างซ้ายเล็กน้อย และมีอยู่ 3 ก้อน ส่วนข้างซ้ายมี 2 ก้อนลักษณะยืดหยุ่นคล้ายฟองน้ำ มีหน้าที่คือ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกจากเลือด และนำออกซิเจนเข้าสู่เลือด
          8. เยื่อหุ้มปอด (Pleura) เป็นเยื่อที่บางและเป็นมันลื่น หุ้มผิวภายนอกของปอดและบุผิวหนังด้านในของทรวงอก นั่นคือเยื่อหุ้มปอดซึ่งมี 2 ชั้น ระหว่าง 2 ชั้นนี้มีของเหลวอยู่นิดหน่อย เพื่อลดแรงเสียดสี ระหว่างเยื่อหุ้มมีโพรงว่าง เรียกว่าช่องระหว่างเยื่อหุ้มปอด
          การหายใจเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มีการปรับให้มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการออกซิเจนของร่างกาย ควบคุมโดยศูนย์หายใจในก้านสมองและสารเคมีในร่างกายซึ่งควบคุมให้การหายใจช้าหรือเร็ว ลึกหรือตื้น เช่น ถ้าระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงหรือออกซิเจนในเลือดต่ำจะส่งคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อหายใจ เพื่อให้หายใจเพิ่มขึ้น
          อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทางเดินหายใจ เช่น การไอ การจามเป็นรีเฟล็กซ์ที่ร่างกายใช้ในการป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหรือก๊าซที่ระคายเคืองเข้าไปในปอดโดยการหายใจเข้าลึกแล้วหายใจออกทันที ส่วนการหาว เกิดจากการที่มีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในเลือดมากเกินไป จึงต้องขับออกจากร่างกาย โดยการหายใจเข้ายาวและลึก เพื่อรับออกซิเจนเข้าปอดและแลกเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือด  การสะอึก เกิดจากการที่กระบังลมหดตัวเป็นจังหวะ ขณะหดตัวนี้อากาศจะถูกดันผ่านปอดทันทีทำให้สายเสียงสั่น จึงเกิดเป็นเสียงขึ้นสำหรับการดูแลรักษาระบบหายใจสามารถทำได้ดังนี้
          1. พยายามอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อปอดจะได้รับออกซิเจนเพียงพอ
          2. ไม่สวมเสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดตึงจนเกินไป เพราะปอดจะขยายตัวไม่สะดวก
          3. สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่นอยู่เสมอในขณะที่อากาศเย็น
          4. ไม่สูบบุหรี่ และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือวัณโรค เพราะอาจจะติดเชื้อได้
          5. ยืนหรือนั่งตัวตรง เพื่อให้ปอดทำงานได้สะดวก
          6. ควรออกกำลังกายอยู่เสมอ


pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved