HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 30/03/2555 ]
รพ.กรุงเทพโชว์เทคนิคใหม่ผ่าตัดแผลเล็กโรคปวดหลัง

นพ.ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยถึงผลสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยปวดหลัง ซึ่งมีปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ อาทิ หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมและทรุด กระดูกสันหลังเคลื่อนหรือเลื่อนทับเส้นประสาทกระดูกสันหลังคดในผู้สูงอายุ ฯลฯ ด้วยการผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านทางสีข้างหรือด้านข้างลำตัว โดยไม่จำเป็นต้องผ่าเลาะกล้ามเนื้อหลังแบบเดิม ผู้ป่วยบาดเจ็บจากการผ่าตัดน้อยกว่าเดิม เรียกเทคนิคการผ่าตัดนี้ว่า DLIF (Direct Lateral Interbody Fusion) หรือการผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกแบบแผลเล็กข้างลำตัว ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยให้คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดโรคกระดูกกระดูกสันหลัง มีแผลเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเดิม ลดความเจ็บปวด ฟื้นตัวได้รวดเร็วเนื่องจากไม่มีการเปิดแผลเลาะกล้ามเนื้อหลัง เสียเลือดน้อยลง ผู้ป่วยกลับไปมีกิจกรรมปกติได้เร็วกว่าเดิม
          นพ.ทายาทกล่าวว่า เทคนิคนี้อาศัยเครื่องมือติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด หรือ IOM (Intraoperative Neuromonitoring) ส่งผ่านท่อขนาดเล็กประมาณ 1 นิ้ว เพื่อติดตามการทำงานของเส้นประสาทและไขสันหลัง และใส่อุปกรณ์หนุนหมอนรองกระดูกไปแทนที่หมอนรองกระดูกที่เป็นปัญหาเดิม ทำให้กระดูกสันหลังข้อนั้นแข็งแรงขึ้นรับน้ำหนักร่างกายได้ดีขึ้น การปวดหลังจึงลดลง นอกจากนี้ยังสามารถแก้ภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนไปด้านหน้า (Spondylolisthesis) หรือภาวะกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) ใน
          ผู้ป่วยสูงอายุอย่างได้ผล โดยไม่จำเป็นต้องเลาะกล้ามเนื้อหลังยาวตลอด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาปวดหลังเรื้อรัง ภาวะพังผืดเกาะเส้นประสาท ภาวะสกรูหลุดหลวม หรือภาวะสูญเสียกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดแบบเดิมได้
          "เทคนิคนี้เป็นทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัย สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปวดหลังจากสาเหตุที่หมอนรองกระดูกสันหลังทรุดหรือเสื่อมโดยการที่แพทย์เลือกจุดทำผ่าตัดบริเวณด้านข้างลำตัว ช่วยเพิ่มผลสำเร็จของการผ่าตัดแก้ไขอาการปวดหลังเนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ไม่ทำลายกล้ามเนื้อหลัง ผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนกล้ามเนื้อหลังลดลง อีกทั้งการไม่ได้ตัดเลาะกระดูกสันหลังที่ให้ความแข็งแรงเดิมให้สูญเสียไป จึงส่งผลให้บริเวณแผ่นหลังไม่มีการเจ็บปวดเรื้อรังตามมาอันเป็นโรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดจากทางด้านหลังที่พบได้ การพักฟื้นหลังการผ่าตัดจะน้อยลง
          ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินได้ภายใน 48 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังวิธีนี้ และมักจะสามารถมีกิจกรรม และออกกำลังได้ตามปกติได้ภายใน 3 เดือน" นพ.ทายาทกล่าว


pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved