HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 19/03/2555 ]
หมอเตือนภัยใช้ไม้ปั่นแคะเสี่ยงแก้วหูทะลุ-น้ำหนวก

   เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นพ.ทัตเทพบุณอำนวยสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคคอ หู จมูก สถาบันบำราศนราดูร เปิดเผยถึงปัญหาการใช้ไม้แคะหูหรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดในรูหูหลังอาบน้ำหรือสระผมว่า การใช้ไม้แคะหูใช้ขนไก่หรือใช้ไม้พันสำลีแคะปั่นหรือแหย่เข้าไปในรูหูเพื่อแก้คันหรือเพื่อเอาน้ำเอาขี้หูออกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเนื่องจากอาจทำให้ขี้หูอุดตันหรือเกิดอันตรายต่อผิวหนังในรูหู เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค หรือแก้วหูทะลุได้
          "โดยเฉพาะการใช้บริการแคะหูในร้านตัดผมชายนั้นไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดมาแคะหูจะทำให้เกิดอันตรายในขณะแคะหูและติดเชื้อจากเครื่องมือไม่สะอาดทั้งเชื้อแบคทีเรียเชื้อรา หรือหากแคะลึกเกินไปอาจทำให้แก้วหูทะลุได้ เนื่องจากหูแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.หูชั้นนอกเริ่มตั้งแต่ใบหู ช่องหูและแก้วหู ซึ่งแก้วหูนั้นเป็นเนื้อเยื่อที่มีความบอบบางมากหนาประมาณ 0.1 มิลลิเมตร 2.หูชั้นกลางเป็นส่วนที่อยู่ติดจากแก้วหูมีลักษณะเป็นห้องเล็กๆ และมีท่อเชื่อมกับทางด้านหลังจมูกเพื่อปรับความดันได้มีกระดูกนำเสียง 3 ชิ้น และ 3.หูชั้นในมีอวัยวะประสาทสัมผัส 2 อย่างฝังอยู่ในกระดูกที่แข็งแรงมาก โดยที่หูชั้นนอกจะมีขี้หูซึ่งเกิดจากขี้ไคลที่ผสมกับน้ำที่อยู่ในต่อมที่อยู่ในหู ทำหน้าที่ดักฝุ่นละอองสิ่งแปลกปลอมต่างๆ และมีกลิ่นเฉพาะ ขี้หูจึงไม่ใช่สิ่งสกปรกไม่จำเป็นต้องแคะหรือปั่นออกมาเพราะโดยธรรมชาติขี้หูจะค่อยๆ เลื่อนออกมาเอง" นพ.ทัตเทพกล่าวและว่าการทำความสะอาดรูหูโดยใช้แอลกอฮอล์ชุบไม้พันสำลีเพื่อเช็ดทำความสะอาดในรูหูก็ไม่ควรทำเพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ผิวหนังบริเวณรูหูแห้งเกิดการระคายเคืองและอักเสบทำให้เป็นหูน้ำหนวกได้
          นอกจากนี้ นพ.ทัตเทพกล่าวว่า การใช้ไม้พันสำลีหรือคอตตอนบัดเช็ดทำความสะอาดก็ไม่ควรทำ เพราะผิวหนังในรูหูบางมากจะทำให้เป็นแผลถลอกในรูหูเกิดการอักเสบติดเชื้อหากใช้คอตตอนบัดที่มีขนาดใหญ่เข้าไปปั่นในรูหูเท่ากับว่าดันขี้หูให้ลึกลงไปอีกเกิดปัญหาขี้หูอุดตัน การได้ยินเสียงไม่ชัดเจนเหมือนปกติ ต้องพบแพทย์เพื่อหยอดยาและดูดขี้หูออก ซึ่งขณะนี้สถาบันบำราศนราดูร พบผู้ป่วยประเภทนี้เดือนละ100 รายเศษ ดังนั้นหากจะทำความสะอาดหูควรทำเฉพาะใบหูและบริเวณปากรูหูโดยใช้สำลีหรือผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบสบู่หรือน้ำเช็ดเบาๆ บริเวณใบหูและขณะอาบน้ำสระผมระวังอย่าให้น้ำเข้าหูหากรู้สึกว่ามีน้ำเข้าหูบ่อยควรป้องกันโดยใช้สำลีปั้นเป็นก้อนขนาดเท่าหัวแม่มืออุดหูก่อนอาบน้ำสระผมในกรณีของเด็กเล็กก่อนอาบน้ำให้เด็กขอให้ใช้สำลีอุดหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู ถ้าเกิดความผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์


pageview  1204943    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved