HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 15/03/2555 ]
หญ้าหยาดน้ำค้างแค่ไม้ล้มลุก เภสัชชี้เป็นยาเย็น-ดับกลิ่นตัว

           เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นพ.สุพรรณศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการตรวจสอบกรณีชาวบ้านใน จ.กำแพงเพชร แห่เก็บหญ้าหยาดน้ำค้างมากิน เนื่องจากเชื่อว่าเป็นยาผีบอกสามารถรักษาโรคมะเร็งว่า ล่าสุดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กำแพงเพชรได้ส่งตัวอย่างหญ้าชนิดดังกล่าวให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ พิสูจน์ว่าเป็นพืชตระกูลใด มีกี่สายพันธุ์ และเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาจริงหรือไม่ คาดว่าภายใน1 สัปดาห์ จะทราบผลตรวจสอบทางกายภาพในเบื้องต้น ส่วนการตรวจสอบว่ามีสารตกค้างหรือมีสารพิษเจือปนหรือไม่ จะมอบให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบต่อไป
          ด้าน ศ.วงศ์สถิต ฉั่วกุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นไม้ล้มลุกในวงศ์สะครอบปุลาริเอซีย์ (Scrophulariaceae) อยู่ในสกุลลินเดอเนีย (Lindernia) ซึ่งในสกุลนี้มีอยู่ประมาณ 32 ชนิด แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าหญ้าชนิดที่ชาวบ้านเรียกว่าหญ้าหยาดน้ำค้างนั้น เป็นชนิดใดต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน
          ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในเรื่องสรรพคุณรักษามะเร็งนั้น ถือว่าเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยได้ยินสรรพคุณนี้มาก่อน ดังนั้น จะต้องมีการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร แต่หากไม่พบก็ต้องเดินหน้าวิจัยใหม่พร้อมทั้งตรวจสอบความเป็นพิษ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากมีขั้นตอนการทดสอบมาก แต่เพื่อความปลอดภัยจึงขอเตือนชาวบ้านไม่ควรเด็ดต้นหญ้ามากินเอง
          "หญ้าดังกล่าวมีคนบริโภคเป็นผักเหมือนกัน โดยพบตามทุ่งนาทางภาคเหนือของไทยในกลุ่มไทยใหญ่นิยมกินเป็นผักลวก ผักจิ้มเรียกกันว่า ผักเลิน มีสรรพคุณเป็นยาเย็น แก้ปวดท้อง แก้ไข้ บ้างก็นำมาเป็นยาดับกลิ่นตัวเอาใบมาบดขยี้ทาตามตัว แต่ส่วนใหญ่พวกเขาจะรู้ว่าต้องกินอย่างไร มากน้อยแค่ไหนและเลือกถูกว่าเป็นหญ้าชนิดนี้ แต่ปัญหาคือขณะนี้คนส่วนใหญ่ยังแยกแยะไม่ออกว่าชนิดใดเป็นผักเลิน หากเก็บหรือกินผิดก็อาจเสี่ยงเป็นอันตราย เหมือนเช่น ว่านงวงช้าง มีสรรพคุณรักษามะเร็ง แต่หากกินเมล็ดจะมีพิษทำให้เสียชีวิต" ภญ.สุภาภรณ์กล่าว และว่า ปัจจุบันสมุนไพรที่ระบุว่ารักษามะเร็งได้ส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มภูมิต้านทาน ต้านสารอนุมูลอิสระ แต่ยังไม่มียาแผนปัจจุบันหรือยาแผนไทยตัวใดที่สามารถรักษามะเร็งได้ 100%" ภญ.สุภาภรณ์กล่าว
          น.ส.กมลทิพย์ สุวรรณเดช นักวิชาการสาธารณสุข สำนักการแพทย์พื้นบ้านไทยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ใน1-2 วันนี้ จะนำพืชดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับพืชในสำนักหอพรรณไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อดูสายพันธุ์และสรรพคุณต่อไป
 


pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved