HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/03/2555 ]
10บทบัญญัติขจัดร้อน

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)เตือนประชาชนรับมือภัยร้อนที่ส่งผลต่อการเจ็บป่วย
          นพ.กฤษดา ศิราพุชผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติกล่าวว่า ปีนี้ฤดูร้อนมาเร็วกว่าปกติและสภาพอากาศร้อนจัด อาจทำให้คนเมืองร้อนมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บดังต่อไปนี้ คือ
          1.โรคช็อกแดด (Heatstroke) ป่วยด้วยความร้อนที่ขึ้นสูงจัด สมองทนไม่ไหวความดันตกถึงขั้นชักได้ คนที่ไวต่อช็อกแดดคือเด็ก, ผู้อาวุโสและคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว แต่บางทีในนักกีฬาก็เกิดได้รวมถึงคนที่ขาดน้ำ
          2.โรคขาดน้ำทำให้ร่างกายเพลียไวต่อความเครียดและเหนื่อยล้า การขาดน้ำทำให้เกิดโรคปวดหัวแบบไมเกรน, ปวดท้องประจำเดือน, สิวขึ้น, หน้าแห้ง, ไร้เรี่ยวแรงและไข้ขึ้นได้ง่าย แค่กินน้ำไม่พอก็จะนำอีกหลายโรคตามมา
          3.โรคพิษจากน้ำน้ำในหน้าร้อนไม่น่าไว้ใจนักไม่ว่าจะน้ำดื่มหรือน้ำใช้ ตัวอย่างน้ำแข็ง ไอศกรีม ทานมากนอกจากปวดหัวได้แล้วยังทำให้ปวดท้อง ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินอาหารจากการแช่น้ำแข็งร่วมตู้กับของสดหรือตู้ไอศกรีมที่เปิดปิดไม่เป็นเวลา
          4.โรคเก่ากำเริบท่านที่มีโรคความดันสูง, เบาหวานหรืออาการปวดมึนศีรษะง่ายอยู่แล้วหน้าร้อนจะกระตุ้นให้เสี่ยงป่วยมากขึ้น โรคที่ต้องเฝ้าระวังเหล่านี้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นยามอยู่ในที่ร้อนจัดแล้วมีความเครียด เช่นประชุมงานกันแล้วเดินตากแดดไปกินข้าวจะทำให้โรคเก่ามาถามหาได้
          5.โรคร้อนลงผิว (Heat rash, Prickly heat)ผดผื่นคันผิวจะเปลี่ยนจากเรื่องสิวเล็กน้อย กลายเป็นอาการคัน ห้ามโรยแป้งลงบนผื่นถ้าไม่แน่ใจเพราะอาจทำให้เป็นผื่นมากขึ้น ขอให้ระวังน้ำอุ่นไว้ด้วย
         6.โรคเบื่ออาหารควรงดของมัน,อาหารทอดและของที่เข้ากะทิ ซึ่งหน้านี้มีเยอะอย่างข้าวเหนียวมะม่วง, ทุเรียน, ลอดช่องน้ำกะทิ ท่านอาจเลือกกินเป็นเฉาก๊วย,น้ำรากบัว, หล่อฮั้งก้วย, เก๊กฮวย หรือแตงไทยเย็นๆ จะดีกว่า
          7.โรคหวัดฟุดฟิดส่วนมากจะมาจากเครื่องปรับอากาศ ร่างกายปรับไม่ทันก็ป่วยกลายเป็นไข้หวัด ทางที่ดีควรจัดให้มีเวลาพักแอร์หรือปรับอุณหภูมิให้ไม่เย็นจัดเกินไป
          สำหรับบทบัญญัติขจัดร้อนมี 10 ข้อ คือ

        1.ควรดื่มน้ำให้พอน้ำเปล่าดีที่สุดขอให้ดื่มไว้เรื่อยๆ มีเทคนิคคือตั้งขวดน้ำไว้หน้าโต๊ะทำงานแล้วปฏิญาณว่าวันนี้จะดื่มให้หมดขวด ในท่านที่ชอบออกกำลังฤดูนี้ต้องยั้งพลังไว้บ้างแล้วดื่มน้ำให้มากก่อนลงสนาม
          2.รอเข้าวินขออย่าเพิ่งเข้าห้องปรับอากาศทุกครั้ง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ให้หาเสื้อไว้เปลี่ยน ถ้าเดินตัวชื้นเหงื่อออกมาแล้วต้องเข้าออฟฟิศทำงานเลยจะทำให้ร่างกายเย็นจนเป็นหวัดไม่สบายได้
          3.กินให้น้อยการกินอยู่พอประมาณเป็นข้อพึงปฏิบัติอยู่ทุกฤดู โดยเฉพาะหน้าร้อนนี้ขออย่าให้กินอิ่มเกินไปเพราะทำให้อาหารไม่ย่อยและป่วยไข้ได้ความร้อนทำให้อาหารบูดเสียเร็วไม่เว้นแม้ในกระเพาะลำไส้
          4.ค่อยๆ ออกหมายถึงออกกำลังกายให้เพลาลงบ้างในฤดูนี้ มีหลายท่านที่ "ช็อกแดด" ในหน้าร้อนจนช็อกในฟิตเนสกันมาแล้ว การหาเอ็กเซอร์ไซส์เบาๆ ให้เหมาะกับตัวเราคือไม่เหนื่อยเกินไป ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำมาก ลดแอโรบิกลง คงไว้แต่ไดนามิกเบาๆ อย่างซิตอัพก็ได้
          5.บอกถ้าป่วยหากท่านมีโรคประจำตัวอยู่ขอให้คอยระวังไว้เวลาเหนื่อยแล้วต้อง"เพลา"ลงบ้าง เพราะโรคร้ายอย่างสโตร้คอัมพฤกษ์ อัมพาต กับโรคหัวใจจะถามหาเวลาร้อนจัดจนเลือดแทบเดือดอย่างนี้ หากท่านมีโรคประจำตัวที่ว่าการหารือกับคุณหมอไว้ก่อนให้ปรับยาก็จะดี
          6.ช่วยนอนเร็วการนอนช่วยดับร้อนได้ส่วนหนึ่งคือช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนซ่อมแซมตัวเองหลังจากผจญไอร้อนมาทั้งวัน ความร้อนทำให้ท่านเสียน้ำ, หัวใจเต้นเร็วและเสียเกลือแร่ในร่างกาย เวลานอน
          นั้นทำให้ตื่นมามีแรง
          7.เจลลดไข้ ใช้ได้ในเด็กที่ใกล้จะช็อกแดดหรือดูดซึมลงจากอากาศร้อนเพราะช่วยลดได้ทันใจไม่อันตราย ดีกว่าจับอาบราดน้ำเย็น
          8.ไม่กินหวานอันหน้าร้อนมีผลทำให้อุณหภูมิกายสูงอยู่แล้ว การเร่งให้ร่างกายต้องเผาผลาญอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาลอีกจะทำให้เกิดอาการป่วยได้ เพราะในของหวานมีน้ำตาลที่ทำให้เกิดกระบวนการ"ไกลเคชั่น (Glycation process)" อันทำให้เกิดเสื่อมอักเสบขึ้น
          9.อาหารเย็นเป็นเครื่องดับร้อนที่ดีอาหารที่เหมาะสมคือ แกงส้ม, ข้าวแช่,แตงไทยน้ำกะทิ, น้ำมะตูมหรือแบบเทศก็มีเฉาก๊วย, สมูตตี้แตงโม, เก๊กฮวยเย็น, ต้มมะระ ฯลฯ หาของเย็นมาดับร้อนเป็นวิธีที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ
          10.เน้นธรรมชาติคนไทยรุ่นใหม่ใช้แอร์เป็นเครื่องดับร้อนจึงทำให้ยิ่ง "ร้อนใน"เพราะแอร์เป็นอากาศแห้งและเย็นทำให้เกิดอักเสบทางเดินหายใจง่าย ที่ไหนมีแอร์ที่นั่นมีสิทธิป่วย

 


pageview  1205084    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved