HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/03/2555 ]
ชีวิตในหมอกควัน 'หลีกไม่ได้-หนีไม่พ้น' ต้องทนอยู่

กลายเป็นเรื่องน่าตระหนกอย่างยิ่งกับปัญหาหมอกควันไฟในพื้นที่ภาคเหนือปีนี้ ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ "มือเผา"ยังคงเผาต่อไปเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรกรรม และการเข้าเผาในพื้นที่ป่าเพื่อหาของป่ายังไม่นับถึงพวกคึกคะนอง "เผา" โดยไม่สนใจถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น
          สถานการณ์หมอกควันฝุ่นละอองภาคเหนือตอนบน8 จังหวัด กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ผลตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 85.8-384.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก
          เมื่อตรวจสอบตัวอย่างสถิติย้อนหลัง ที่สถานีโรงพยาบาลยุพราชวิทยาลัย เคยตรวจวัดได้สูงสุด 383 ไมโครกรัม ต่อ ลบ.ม. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 แต่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สาธารณสุขแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย วัดได้ 384 ไมโครกรัม ต่อ ลบ.ม.
          เป็นสถิติใหม่ของภาคเหนือตอนบน!
          นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ "หมอหม่อง"แพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือสวนดอก จ.เชียงใหม่ บอกว่า จากการวิจัยทั่วโลก พบว่าปริมาณฝุ่นละอองมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ ก่อให้เกิดหัวใจวายฉับพลัน จากสถิติมีผู้หัวใจวายเสียชีวิต จ.เชียงใหม่ ปีละ 500 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว เข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลวันละ 4-5 รายจากเดิม 5-6 ราย ต่อสัปดาห์ หากปริมาณฝุ่นสะสมมากอาจเกิดโรคมะเร็งปอด เชียงใหม่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสูงสุดของประเทศ
          "หมอกควันฝุ่นละอองน่ากลัวกว่าโรคไข้หวัดนกหรือโรคซาร์สหลายเท่าตัว เพราะทุกคนต้องสูดอากาศหายใจหนีไม่พ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก การท่องเที่ยว คนหนีหายรายได้หด ถ้าเผาป่าก็เกิดก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ทางออกควรเป็นวาระแห่งชาติ หรือเข้าสู่เวทีของอาเซียน ผู้นำประเทศ ทั้ง11 ชาติ ควรใส่ใจเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะส่งผลต่อประชากรอาเซียน 500 ล้านคน ได้รับผลกระทบวงกว้าง"
          "ที่สำคัญประชาชน ควรปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานสิ่งมีชีวิต โดยเรียกร้องสิทธิได้รับอากาศบริสุทธิเพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี สำคัญกว่าแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจทางการเมือง หรือแย่งชิงผลประโยชน์ ควรมีมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และมีบทลงโทษแก่ผู้สร้างมลพิษ ไม่ควรปล่อยปละละเลย ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว อย่ายอมจำนนต่อสถานการณ์ ควรลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเอง"นพ.รังสฤษฎ์กล่าวพริษฐ์ พงษ์เพชรกาฬ หรือพีท อายุ 17 ปี นักเรียนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ชั้น ม.5/6 เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตประจำวันด้วยการสูดและดมหมอกควันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า บางวันมีอาการไอ แสบตา เจ็บคอ เส้นเสียงอักเสบ เพื่อนบางคนต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคทางเดินหายใจ บางครั้งขาดเรียน 2-3 วัน แม้ได้รับคำเตือนให้ใส่หน้ากากอนามัยปิดจมูกปาก แต่นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ใส่ เนื่องจากไม่สะดวก และเริ่มชินต่อสภาพอากาศดังกล่าว
          "จะปรับตัวตามสถานการณ์ หากวันไหนหมอกควันฝุ่นละอองรุนแรงจะใส่หน้ากาก ไม่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หันไปอ่านหนังสือใต้ต้นไม้หรือเล่นอินเตอร์เน็ต เล่นเกม ตีปิงปอง โขกหมากรุกในที่ร่มแทนอยากฝากผู้เผาป่าวัชพืชไร่นากลางแจ้ง ควรนึกถึงครอบครัว ญาติ และลูกหลาน เป็นการทำร้ายเขา ควรงดเผากลางแจ้งทุกประเภท นำเศษใบไม้ วัชพืช ฟางข้าวมาทำปุ๋ยหมักจะดีกว่า หรือทำแนวกันไฟ ฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นแก่ป่าต้นน้ำ"
          พระอธิการอานนท์ วิสุทโธ เจ้าอาวาสวัดล่ามช้างต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้เผาทำลายป่าหรือวัชพืชในที่โล่ง และพื้นที่สูงอาจทำบาปไม่รู้ตัว เพราะเป็นผู้สร้างมลพิษไปทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เป็นการสร้างกรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น ควรละเว้นการเผาควรเก็บใบไม้ วัชพืชทำปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้เพิ่มผลผลิตการเกษตร หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาจัดเก็บแทน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่สร้างผลกระทบภายหลัง
          "อาตมาทำวัตรตอนตี 4 ตี 5 ทั้งพระภิกษุสงฆ์ และสาธุชนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัด ได้กลิ่นหมอกควัน แต่ก็ต้องสูดดม หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนเช้าควรเป็นเวลาอากาศบริสุทธิ์ ทุกคนควรได้รับแต่ไม่เป็นเช่นนั้น อยากบิณฑบาตขอละเว้นการเผา ไม่ไปทำร้ายผู้อื่น ถ้าทำได้ถือว่าเป็นการสร้างบุญกุศลอย่างหนึ่ง เพื่อเสริมบารมีภายภาคหน้า หากได้รับนิมนต์เทศนาธรรมจะสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อม คนอยู่กับธรรมชาติไม่เบียดเบียนกัน"
          "เชียงราย"เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ห้วงระยะ 1 เดือนที่ผ่านมาต้องประสบกับวิกฤตเรื่องปัญหาหมอกควัน
          ธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ระบุว่าปัญหาหมอกควันในพื้นที่ เกิดจากการเผาไร่เพื่อปลูกพืชสวนและการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ ตลอดจนการหาของป่าของราษฎร ยังคงเห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อย ไม่คำนึงถึงผลกระทบของส่วนรวม นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่ จ.เชียงราย มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศคือ สปป.ลาว และพม่า ยังนิยมการเผาป่าและเผาไร่โดยไม่มีการควบคุม ทำให้ควันไฟจึงลอยมาปกคลุมในพื้นที่อย่างหนัก
          นพ.ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุลสาธารณสุขจ.เชียงราย กล่าวว่า เชียงรายได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันอย่างหนัก มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว 20,170 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากโรคหัวใจทุกชนิด โรคระบบทางเดินหายใจทุกชนิด โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หอบหืด และโรคตาอักเสบ
          น.ส.ฐิติกาญจน์ พิณพาทย์ อายุ 25 ปี ชาวบ้านต.เมืองชุม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เผยให้ฟังว่า ป่วยเป็นโรคไซนัสมาตั้งแต่เด็กๆ เสี่ยงการป่วยเป็นโรคอื่นได้ง่ายสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงกลางวันร้อน กลางคืนหนาวเนื่องจากปัญหาหมอกควัน มีฝุ่นละอองในอากาศสูงทำให้ลำบากเนื่องจากแสบจมูก แสบหู และตา ตลอด
          ทั้งวัน ที่สำคัญเกิดอาการไอติดต่อกันนานกว่า 1 เดือน ต้องเดินทางเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายและรับยามากินแต่ก็ไม่ดีขึ้น
          ชนะ ทาแก อาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับส่งลูกค้าจากหน้าด่านพรมแดนไทย-พม่า กับตัวอำเภอแม่สาย จ.เชียงรายมานานกว่า 5 ปี กล่าวยอมรับว่าปีนี้สถานการณ์หมอกควันหนักกว่าทุกปี มีควันไฟปกคลุมทั้งอำเภอส่งผลให้ตนและเพื่อนๆที่ต้องขับรถไปตามท้องถิ่นแสบตาและคัดจมูกจนแทบมองถนนไม่เห็น ต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นไว้ตลอด ฝั่งพม่ายังคงเผาป่าและเผาไร่กันอย่างหนัก ทำให้ฝุ่นละอองพัดเข้ามาฝั่งไทย สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การท่องเที่ยวบริเวณด่านแม่สายเริ่มซบเซาลงเป็นลำดับ
          ด้านสถานการณ์หมอกควันไฟที่ จ.ลำปาง ก็ "อ่วม"ไม่แพ้เมืองเหนืออื่นๆ
          หญิงวัย 48 ปี ชาวบ้านหมู่บ้านม่อนเขาแก้ว ขอสงวนนาม กล่าวว่า ด้วยอายุที่มากขึ้น ทำให้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ยิ่งสถานการณ์หมอกควันไฟที่เกิดขึ้นลงมาปกคลุมหมู่บ้านอีก เนื่องจากเป็นพื้นที่แอ่งกระทะทำให้ชาวบ้านหลายคนทนไม่ไหว ต้องย้ายบ้านออกไปแล้ว โดยส่วนหนึ่งไม่สามารถทนกับการเผาจากการทำเครื่องปั้นดินเผาในหมู่บ้าน และจากสถานการณ์หมอกควันไฟที่เกิดขึ้นขณะนี้
          "ชาวบ้านที่ยังอยู่ก็ต้องปรับตัวกันไป ผ้าปิดจมูกต้องมีติดบ้าน ติดตัวตลอดเวลา พร้อมด้วยที่พ่นยาที่ได้จากโรงพยาบาล บ้านไหนเป็นบ้านไม้ก็ต้องทนไป บ้านไหนมีแอร์ก็จำเป็นต้องเปิด แม้จะเปลืองค่าไฟก็ต้องยอม หากมีทั้งควันไฟเผาเครื่องปั้นดินและควันไฟที่ปกคลุมหนักในหมู่บ้าน แล้วอาการป่วยกำเริบ ก็จำเป็นต้องใช้ยาฉีดพ่นเข้าทางปาก ก็จะหายใจโล่งไปได้ระดับหนึ่ง"
          เป็นเสียงสะท้อนจากผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหมอกควัน นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
          มีคำถามว่า แล้วผู้รับผิดชอบจะเอาจริงกับการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี รอฟ้า รอฝน ให้มีช่วยแก้ปัญหาจริงหรือ
 


pageview  1205016    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved