HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 12/03/2555 ]
การศึกษา สู่เศรษฐกิจ: เกมพัฒนา'ออทิสติก'ไอเดีย...น.ศ.'มจธ.'

 

          "ออทิสติก"เป็นกลุ่มอาการบกพร่องทางพัฒนาการอย่างรอบด้านพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนจึงรู้สึกกังวลไม่น้อยเมื่อลูกที่เป็นออทิสติกถึงวัยต้องเข้าเรียนปัญหานี้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในประเทศไทย กำลังเร่งหาเครื่องมือต่างๆ มาเป็น"ตัวช่วย"ในการเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกและ "สื่อ"สำหรับเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งพัฒนา เพื่อให้เด็กออทิสติกมีพัฒนาการกระทั่งสามารถเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติได้
          ท่ามกลางการศึกษาวิเคราะห์วิจัย   ของหลายฝ่าย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วยนางสาวรุ่งนภา สกุลลิ้ม นายธีรพงศ์ ศรีณรงค์และ นายภัทรวัตร เผือกผ่องได้ร่วมกันสร้าง "เกมเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้เด็กออทิสติก"ขึ้นเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (High) และปานกลาง(Moderate) อายุระหว่าง3-10 ปี
          นางสาวรุ่งนภาเล่าว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเกมนี้ มาจากการหาโจทย์ในการทำโปรเจ็กต์จบในระดับปริญญาตรี ขณะเดียวกันก็มีโอกาสรู้จักกับโครงงานกล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)สนับสนุนให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษาส่งโครงงานเพื่อพัฒนาสังคมชุมชนเข้าร่วมแข่งขัน จึงผนวกแนวคิดทั้งสองเข้าด้วยกันเพื่อทำให้โปรเจ็กต์มีคุณประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น
          "ตอนแรกพวกเราคิดถึงคนตาบอด หูหนวกก่อนเลย แต่พอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็พบทั้งสองกลุ่มนี้มีสื่อเทคโนโลยีในการเสริมสร้างพัฒนาการมากพอสมควร แต่ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังไม่มีสื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเท่าที่ควร นั่นคือกลุ่มเด็กออทิสติก พวกเราก็ได้ไอเดียว่าถ้าเราสามารถทำสื่อที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้ให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติได้ก็น่าจะดี"
          บทสรุปของการหารือ ประกอบกับการปรึกษา อาจารย์ศศิภากัลยาวินัย รวมถึงนักวิชาการ และค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตนักศึกษาจึงตกลงปลงใจว่าจะสร้างเกมเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสติกจากโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา โดยใช้เวลาเก็บข้อมูล ร่างรูปแบบ กระทั่งเขียนเกม และนำไปทดสอบกับผู้ใช้จริงรวมระยะเวลากว่า 5 เดือนในทำไปเรียนรู้ไป และปรับปรุงกระทั่งได้เกมออกมา 1 ชุด มี 5 เกม โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 3 หมวด คือหมวดที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน หมวดสังคม และหมวดร่างกายประกอบด้วย 1.เกมจำแนกสิ่งของ ซึ่งเกิดจากไอเดียที่ได้ไปพูดคุยกับอาจารย์ เริ่มจากการนำสิ่งของที่น้องๆ ออทิสติกสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันมาออกแบบเกม 2.เกมแยกแยะอารมณ์ได้ไอเดียมาจากเว็บไซต์ต่างประเทศ แต่เกมแยกแยะอารมณ์ของต่าง
          ประเทศใช้ภาพชาวต่างชาติที่มีความแตกต่างด้านอารมณ์ไม่ชัดเจนไม่เหมาะกับเด็กเล็ก จึงมาปรับปรุงให้เป็นภาพการ์ตูนซึ่งดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ได้มากกว่า
          3.เกมประกอบอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเพื่อให้เด็กๆ รู้จักและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น 4.เกมลากเส้นเป็นการประยุกต์เกมให้เหมือนแบบฝึกหัดคัดลายมือของเด็กอนุบาลที่มีอยู่แล้วในแบบเรียน แต่นำมาใส่ไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ 5.เกมเรียงลำดับเหตุการณ์แม้จะได้ไอเดียมาจากเกมของต่างประเทศ แต่ได้นำมาปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของเด็กไทยมากขึ้น ซึ่งหลังจากเล่นเกมที่ 5 เสร็จแล้ว ยังมีด่านที่ 6 ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดสรุปรวมเกมทั้ง5 เกมมารวมไว้เพื่อย้ำเตือนความเข้าใจของน้องๆ อีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่การประเมินผลนับจำนวนดาวแห่งความสำเร็จมอบให้ผู้ใช้เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้
          นายธีรพงศ์ ศรีณรงค์บอกว่า กว่าจะได้เกมที่สมบูรณ์ ต้องเพียรพยายามนำเกมแต่ละเกมเข้าไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งอาจารย์สิทธิชัย ครูอารีย์ และครูอื่นๆ ในโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์รวมถึงให้น้องๆ ที่โรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ทดลองเล่นก่อน แล้วนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง
          ครูอารีย์ คำคณา ครูโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ กล่าวถึงพัฒนาการของเด็กออทิสติกที่เคยผ่านการเล่นเกมเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ว่า เด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่มักไม่สนใจการฟังเสียง ไม่ชอบภาพ แต่หลังจากที่ได้เล่นเกม ก็เริ่มสนใจเสียงและภาพมากขึ้นสามารถทำแบบฝึกที่ครูมอบหมายได้ดี สนใจสิ่งที่ครูสอนได้นานขึ้น
          หลังจากเกม ได้รับผลตอบรับเป็นที่พอใจ นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ กรรมการมูลนิธิคุณพุ่ม และนายกสมาคมออทิสติกแห่งประเทศไทยที่ติดตามการดำเนินงานของนักศึกษาทีมนี้มาโดยตลอด บอกว่า เกมดังกล่าวน่าจะสามารถพัฒนาเด็กออทิสติกให้มีพัฒนาการเรียนรู้ให้ทัดเทียมเด็กปกติได้ โดยอยากให้นักศึกษา มจธ.ต่อยอดและพัฒนาเกมนี้ต่อ ในขณะที่ในส่วนของสมาคมออทิสติกแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ และจะช่วยกระจายเกมไปสู่ผู้ปกครอง อีกทั้งจะนำเกมนี้ขึ้นไปไว้บนเว็บไซต์ของเครือข่ายทั้งหมด ที่สำคัญในการประชุมสัมมนาเครือข่ายออทิสติกโลกที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยช่วงเดือนเมษายน 2555 นี้ เกมดังกล่าวยังได้รับโอกาสให้นำเสนอผลงานความสำเร็จต่อสมาคมโลกได้รับรู้อีกด้วย
          รศ.ดร.นิพนธ์ เจริญกิจการคณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศมจธ. กล่าวว่า ได้เตรียมแผนสร้างห้องวิจัยให้อาจารย์และนักศึกษาที่มีความสนใจในด้านซอฟต์แวร์สำหรับผู้ด้อยโอกาส หรือ Usability ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าและพัฒนา เพื่อเป็นการสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี
          โดยคณะจะเป็นผู้สนับสนุนด้านสถานที่ อุปกรณ์ที่จำเป็นและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับ 

pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved