HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/02/2555 ]
โรคต้อหินป่วย2.4ล้านคนคัดกรองกลุ่มเสี่ยงอายุ40
          เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)เป็นประธานแถลงข่าวจัดกิจกรรม "รวมพลังระวังต้อหิน เนื่องในวันต้อหินโลก ปี 2555"วันที่ 4 มีนาคม ระหว่างเวลา 07.00-11.00 น. ที่อาคารพลเมืองอาวุโส สวนลุมพินี โดยมีรศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ ประธานชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงว่ากิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเดินรณรงค์ "รวมพลังระวังต้อหิน" การตรวจสุขภาพตา การเสวนาหัวข้อ "รู้ลึก รู้จริงเรื่องต้อหิน" นิทรรศการความรู้เรื่องต้อหิน และกิจกรรมตอบปัญหากับดารานักแสดงนอกจากนี้ กทม.ยังได้จัดสัปดาห์ป้องกันโรคต้อหิน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม โดยขอความร่วมมือสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ 9 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข68 แห่ง จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคต้อหิน คัดกรองภาวะเสี่ยงของโรคโดยการวัดความดันลูกตา
          พญ.มาลินีกล่าวว่า โรคต้อหินเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้ตาบอดถาวร และนับวันจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ในประเทศไทยมีรายงานจำนวนผู้ป่วย 1.7-2.4 ล้านคน หรือประมาณ2.5-3.8 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมดและจากการสำรวจชุมชนในกรุงเทพฯ โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลศิริราช พบว่าในกลุ่มประชาชนที่มีอายุตั้งแต่50 ปีขึ้นไป เป็นต้อหินสูงถึงร้อยละ 3.8 และในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นต้อหินร้อยละ6.1 ทั้งนี้ ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหิน ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีสายตายาวมาก ผู้ที่เคยผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตาและผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหินซึ่งส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการในระยะแรกแต่จะสังเกตได้เมื่อมีอาการขั้นรุนแรง และอาจทำให้ตามัวหรือมองไม่เห็นได้ ดังนั้นทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคต้อหินทุก 1-2 ปี
          วันเดียวกันนี้ นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเครือข่าย (ครู ก.) ด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ที่โรงแรมริชมอนด์ ว่าจากปัญหาการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุไทยอย่างรวดเร็ว จาก 7 ล้านคน หรือร้อยละ10.7 เป็น 14.5 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ในปี 2568 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า นับว่าเป็นการก้าวสู่ภาวะประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็วเป็น 2 เท่าในระยะเวลาอันสั้น และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังในครอบครัว มีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 7.7 ในปี 2550 ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีความรู้สึกเหงา ร้อยละ 51.2 ไม่มีคนดูแลเมื่อเวลาเจ็บป่วย ร้อยละ 27.5 ต้องการคนดูแลเป็นบางเวลา ร้อยละ 52.2 และต้องการคนดูแลตลอดเวลา ร้อยละ 10.2 ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุระหว่าง 60-69 ปี ร้อยละ 69.3 เป็นโรคเรื้อรัง และจะพบโรคเพิ่มเมื่ออายุมากขึ้น ในกลุ่มอายุ 90 ปี พบร้อยละ 83.3

pageview  1205143    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved