HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 12/06/2556 ]
ข้อเท็จจริงในการดูแลสุขภาพอนามัยสตรี

 พญ.ชัญวลี ศรีสุโข  chanwalee@srisukho.com
          สุขภาพอนามัยสตรีเป็นเรื่องซับซ้อน ไม่ได้ข้องเกี่ยวเฉพาะสุขภาพกายใจของ
          สตรีเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับบุรุษที่ เป็นคู่ครอง, ภาระในครอบครัว, นโยบายการดูแลสุขภาพสตรีของสังคม ประเทศชาติ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ บางคนมีโรค แต่มีความสุขกายใจในการใช้ชีวิต เมื่อร่างกายจิตใจแข็งแรงก็เรียกว่าสุขภาพดี ขณะที่บางคนไม่มีโรคอะไรเลย หรือมีโรคเพียงเล็กน้อย แต่มีความทุกข์กายใจ งานหนัก มีปัญหาครอบครัว ร่างกายอ่อนแอ จิตใจห่อเหี่ยว ก็ทำให้สุขภาพอนามัยไม่ดี สุขภาพดีจึงไม่ใช่เรื่องของไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่ต้องทำให้ล้มหมอนนอนเสื่อเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความสุขกายสบายใจแข็งแรงกายใจ จนสามารถใช้ความสามารถตนตามศักยภาพที่มีอยู่
          ข้อเท็จจริงในการดูแลสุขภาพอนามัยสตรีมีดังนี้
          1.ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสถาบันวิจัยประชากรสังคม พบอายุเฉลี่ยของหญิงในปัจจุบันอยู่ที่ 74.9 ปี ชายอยู่ที่ 69.9 ปี เหตุผล จากพันธุกรรมเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะแข็งแรง อดทนกว่าเพศชาย ยืนยันจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในอายุครรภ์ที่เท่ากัน และมารดาเกิดปัญหาแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ฯลฯ เด็กผู้หญิงมีโอกาสรอดมากกว่าเด็กผู้ชาย, จากสรีระ การมีมดลูก รังไข่ ช่องคลอด ทำให้ผู้หญิงที่ใส่ใจในสุขภาพสามารถค้นพบโรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตนเองได้เร็ว เพราะมักจะมีระดูหรือตกขาวผิดปกติ, จากธรรมชาติของเพศหญิงที่มีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยกว่าเพศชาย = 123.8:153.6 คนต่อประชากรแสนคน
          2.ผู้หญิงคุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าผู้ชายเชื่อว่าเพราะสาเหตุทารกเพศหญิงถูกทารุณหรือลักพามากกว่าเพศชาย, การเลี้ยงดู ของครอบครัวที่ดูแลลูกผู้ชายดีกว่า, ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มสูงถึงร้อยละ 20, เผชิญความรุนแรงในครอบครัว จากสามีหรือคู่ถึงร้อยละ 44 โดยร้อยละ 30 เป็นความรุนแรงทางเพศ, แนวโน้มการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเอชไอวี/เอดส์ สูงขึ้น, โฆษณาชักชวนให้สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เสริมสวยเสริมสาวสูงขึ้น ฯลฯ เชื่อว่าหากผู้ชายช่วยดูแลผู้หญิง, ผู้หญิงเรียนรู้ให้เท่าทันโลก, ผู้หญิงดูแลตนเองให้พึ่งพิงตนเองให้ได้ คุณภาพชีวิตผู้หญิงจะดีขึ้น
          3.การคุมกำเนิด ในสังคมไทย ผู้หญิงเป็นฝ่ายรับผิดชอบคุมกำเนิดเป็นส่วนใหญ่ การคุมกำเนิดแต่ละชนิดมีข้อห้าม มีข้อพึงระวัง และอาจมีผลข้างเคียงที่มีผลกระทบกับสุขภาพของหญิง ดังนั้น ผู้หญิงควรศึกษาความรู้เรื่องการคุมกำเนิดจากสื่อ หนังสือวิชาความรู้ หรือสอบถามบุคลากรทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ทั้งรู้จักต่อรองให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
          4.การตั้งครรภ์และการคลอด แม้ฝากครรภ์ดี คือฝากครรภ์ก่อนการตั้งครรภ์สามเดือน, ไปพบแพทย์ทุกครั้งตามกำหนดนัดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ จะสามารถลดการเจ็บการตายของมารดาและทารกลงได้ แต่ไม่ได้ทั้งหมด เมื่อมีการตั้งครรภ์การคลอดเกิดขึ้น ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ข้อมูลจากโรงพยาบาลรัฐพบว่า มารดาเสียชีวิตจำนวน 108, 99, 93, 97, 89 ราย ในปี พ.ศ.2547-2551 สาเหตุการตายอันดับหนึ่งคือการตกเลือด อันดับสองคือการติดเชื้อ อันดับสามคือความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ดังนั้น ก่อนจะปล่อยให้ตั้งครรภ์ ผู้หญิงควรเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ โดยไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพและให้คำแนะนำ ในบางรายไม่ควรตั้งครรภ์
          5.การแท้งบุตร ผู้หญิงทั่วไป อายุ 20-30 ปี เมื่อตั้งครรภ์มีโอกาสแท้งเองร้อยละ 10 ส่วนผู้หญิงที่มีโรคประจำตัว, ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยกว่า 19 ปี หรือมากกว่า 35 ปี มีโอกาสแท้งเองร้อยละ 15-20 การแท้งเองช่วงตั้งครรภ์ 1-3 เดือน ถือว่าเป็นการทำลายของธรรมชาติ เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเด็กทารกพิการ หรือมีหน่วยพันธุกรรมไม่ปกติ ส่วนการทำแท้งเถื่อนคือการยุติการตั้งครรภ์อย่างผิดกฎหมาย คาดการณ์ว่าปีหนึ่งๆ ประเทศไทยน่าจะมีไม่ต่ำกว่าแสนรายต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและจิตตามมา เช่น ตกเลือด มดลูกอักเสบ ต้องตัดมดลูก มีลูกอีกไม่ได้ ปวดท้องเรื้อรัง เครียด ซึมเศร้า คาถาป้องกันการทำแท้งเพราะตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มี 3 พยางค์คือ คุมกำเนิด
          6.สุขภาพทางเพศ ในสังคมไทยผู้หญิงมีแนวโน้มจะมีปัญหาสูงกว่าผู้ชาย เพราะสุขภาพทางเพศไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ฮอร์โมน ระบบหลอดเลือด และระบบอวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับจารีต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา สังคม และคู่ครอง เชื่อว่าหญิงไทยมีปัญหาทางเพศ ได้แก่ ไม่มีความต้องการทางเพศ, ไม่มีอารมณ์ทางเพศ, ไม่สามารถกระตุ้นหรือปลุกเร้าทางเพศ, ไม่ถึงจุดสุดยอด หรือเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จนเกิดปัญหาครอบครัว ร้อยละ 19-50 แต่ที่ไม่พอใจในเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่เกิดปัญหาครอบครัวอาจจะสูงถึงร้อยละ 75 วิธีแก้ปัญหาผู้หญิงควรมีความรู้เรื่องสุขภาพทางเพศ ดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ทั้งกายและใจ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เว้นสารเสพติด เหล้า เบียร์ บุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หาวิธีลดความเครียดด้วยตนเอง ทำใจให้สุขสงบ
          7.การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พบในชายมากกว่าหญิงในอัตราส่วน 10.9:1 แต่เพศหญิงมีอัตราป่วยด้วยโรคเอดส์มากกว่าเพศชาย โดยร้อยละ 83.98 ติดเชื้อ เอชไอวีมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งมีโอกาสเสี่ยงแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูกในครรภ์ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพระยะสั้นและระยะยาวของผู้เป็นมารดาและทารกที่เกิดมา รวมทั้งเป็นปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ การแก้ไขนอกจากใช้ถุงยางอนามัยในคนที่ไม่รู้จักไม่รู้ใจ ผู้หญิงทุกคนควรสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง เช่น ตกขาว ปวดท้องน้อย ปัสสาวะแสบขัด หลังมีเพศสัมพันธ์ และรีบรักษาตัวก่อนโรคลุกลาม
          8.โรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1-2 ของผู้หญิง ผู้หญิงทุกคนที่อายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็น และไปพบแพทย์เมื่อพบความผิดปกติ ทั้งควรได้รับการตรวจภายใน เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูก อย่างน้อย 3 ปีต่อครั้ง การตรวจ พบมะเร็งระยะเริ่มแรกมีโอกาสหายขาด ผู้หญิงไม่ควรซื้อฮอร์โมนหรือสมุนไพรที่เข้าฮอร์โมนเพศหญิงมารับประทานเป็นประจำเพราะฮอร์โมนเพศหญิงอาจกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกรังไข่ มดลูก เต้านม และกลายเป็นเนื้อร้ายได้
          และหากเป็นไปได้ เด็กผู้หญิงทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved