HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/05/2556 ]
7 เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ลูกรัก...ไม่หวั่นกับคำว่า'พ่ายแพ้และผิดหวัง'

 เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสังคมยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่มีการแข่งขันสูงและมีแนวโน้มที่จะแข่งขันกันอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้จากการสอบชิงเข้าเรียนในชั้นอนุบาลของเด็กเล็ก หรือการเปิดรับสมัครเพื่อแข่งขันโชว์ความสามารถพิเศษของเด็กในระดับประถม-มัธยม
          และจากสภาพแวดล้อมเหล่านี้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่มีความกังวล เพราะรู้ดีว่าการเลี้ยงดูลูกด้วยความรักเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะให้ลูกรักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่งทั้งร่างกายและความคิดได้ จึงต้องอาศัย "ประสบการณ์ตรงจากโลกภายนอก" มาช่วยเพิ่มทักษะในการดำเนินชีวิตให้ลูกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การรับมือกับความพ่ายแพ้และผิดหวัง"
          "พ.ญ.โสรยา ชัชวาลานนท์" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช ศรีนครินทร์ ผู้ทำหน้าที่ "จิตแพทย์ภาคสนาม" ให้กับรายการ The Voice Kids Thailand รายการน้องใหม่สัญชาติฮอลแลนด์ ที่ทรูมิวสิคนำเข้ามาเฟ้นหาความสามารถด้านการร้องเพลงของเด็กไทย แต่ไม่ลืมเรื่องความรู้สึกของเด็กๆ ว่าเป็นสิ่งสำคัญเหนือเรตติ้ง
          ได้แบ่งปันข้อมูลว่า เป็นรายการแรกและรายการเดียวที่มีจิตแพทย์ภาคสนามคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการทำงาน "หน้าที่ของ "จิตแพทย์ภาคสนาม" ในรายการ The Voice Kids คือ ให้คำแนะนำกับทีมงาน โค้ช และพิธีกร ในการพูดคุยกับเด็กๆ และจะเข้าไปประกบอย่างใกล้ชิดหากมีเคสที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพราะว่าช่วงอายุของเด็กที่เข้าแข่งขันในรายการนี้ คือ 7-14 ปี นับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับการถูกยอมรับจากผู้อื่น ทั้งยังเป็นวัยที่เริ่มสร้าง "ตัวตนหรือคาแร็ดเตอร์" ให้กับตัวเอง หากต้องเจอการปฏิเสธจากผู้คนรอบข้าง อาจเกิดความรู้สึกผิดหวังและเสียความมั่นใจไปเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าเด็กได้เรียนรู้ถึงความผิดหวังและสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้ว เขาก็จะพัฒนาเป็นคนที่แข็งแกร่งและอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขเช่นกัน"
          เคล็ดลับที่จะฝึกเด็กให้รับมือกับความผิดหวังได้อย่างง่ายๆ มีดังนี้  1."ครอบครัวเข้มแข็ง คือ ที่พักพิงใจที่สำคัญ" "ครอบครัว" เป็นสถาบันหลักที่อบรมเลี้ยงดูเด็กให้เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย สติปัญญาและเป็นที่พึ่งทางจิตใจที่สำคัญที่สุด เมื่อเด็กเจอความผิดหวัง หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ คือ ต้องไม่แสดงความอ่อนแอให้ลูกเห็น เช่น ร้องไห้พร้อมกับลูก เพราะยิ่งจะทำให้เด็กเสียขวัญและรู้สึกเสียใจที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมาเสียน้ำตา
          2."ภาษากาย" ความรักและความอบอุ่นที่เด็กสัมผัสได้เมื่อเด็กเกิดความรู้สึกผิดหวัง ทำให้ไม่พร้อมที่จะรับฟังคำพูดปลอบประโลมหรือคำอธิบายต่างๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงหรือพูดให้น้อยที่สุด แล้วหันมาใช้ "ภาษากาย" เพื่อแสดงการปลอบโยนและเข้าใจถึงความรู้สึกที่เด็กมี อาทิ การกอด เอามือตบไหล่หรือใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้นานขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าต่อให้เกิดอะไรขึ้นก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ยังรักและเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ
          3."ไม่ซ้ำ-ไม่ย้ำ-ไม่ตำหนิ" นอกจากคำตำหนิแล้ว คำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดให้เด็กได้ยิน เช่น น่าเสียดาย เพราะจะยิ่งไปซ้ำเติมภาวะจิตใจที่แย่อยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก 4."เป็นผู้รับฟังที่ดี" พยายามกระตุ้นให้เด็กได้เล่าหรืออธิบายถึงสิ่งที่ยังติดค้างในใจ เพื่อเป็นการระบายความรู้สึกที่ไม่สบายใจออกมา นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจถามในประเด็นที่สำคัญและรับฟังคำตอบอย่างตั้งใจ เพราะเพียงแค่ได้เล่าออกมาให้ใครสักคนฟัง เด็กก็จะรู้สึกสบายใจขึ้น
          5."เบี่ยงเบนความสนใจจากอดีต ด้วยกิจกรรมใหม่ๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน" บางครั้งเด็กจะกังวลและยังจดจ่ออยู่กับความผิดหวังในอดีตที่ผ่านไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและแนะนำโดยให้มองไปยังเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแทน 6."ความพ่ายแพ้และความผิดหวังคือ เครื่องเตือนใจให้เราอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง" คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาอยู่กับเด็ก โดยเน้นพูดคุยถึงเรื่องดีๆ ในวันข้างหน้า เช่น อนาคตอยากทำอะไร รู้สึกอย่างไรถ้าวันหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิต ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมานาน หรือให้เล่าประสบการณ์ดีๆ ที่ประทับใจเพื่อลดความรู้สึกในด้านลบของเด็กสุดท้าย 7."ค้นหาเด็กเก่งคนใหม่...ที่ซ่อนอยู่ในลูกคนเดิม" คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดความกังวลให้กับเด็กได้ ด้วยการดึงความสามารถด้านอื่นๆ ที่เด็กมีอยู่ออกมาอีก ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถนั้นมาทดแทนได้
          การเลี้ยงลูกในยุคที่มีการแข่งขันสูง คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่จึงต้องสร้าง "ต้นทุนชีวิตและภูมิคุ้มกันทางจิตใจ" ให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเททั้งความรักและความปรารถนาดี เปิดใจรับฟังและทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกพูด เพื่อหล่อหลอมให้ลูกๆ ได้เจริญเติบโตและเริ่มต้นตั้งหลักชีวิตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต...!!


pageview  1205456    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved