HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 19/04/2556 ]
เด็กก้าวร้าว

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.จุฬาลงกรณ์
          พฤติกรรมขนาดไหนที่ควรมองว่า "ก้าวร้าว"
          ก่อนจะพิจารณาว่าเด็กก้าวร้าวหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่า "ก้าวร้าว" ในความหมายของผู้ใหญ่ คืออะไร และต้องประเมินว่าความก้าวร้าวนั้นรุนแรงระดับใด เช่น ก้าวร้าวทางคำพูด หรือ ก้าวร้าวทางพฤติกรรม และส่งผลกระทบโดยตรงกับใครบ้าง
          ในการแยกเด็กที่ก้าวร้าวออกจากเด็กที่เล่นรุนแรงตามปกตินั้น ประเด็นสำคัญคือ ควรพิจารณาว่ามีการละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือ ละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือไม่ ถ้ามี จำเป็นต้องควบคุมดูแล และสอนให้รู้ว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เหมาะสม และไม่ควรกระทำ
          เด็กที่ก้าวร้าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับ โรคทางจิตเวช เช่น เด็กสมาธิสั้นอาจมีพฤติกรรมเล่นรุนแรงและขาดการยั้งคิด หรือเด็กอาจจะเป็นโรคเกเร (conduct disorder) ซึ่งมีความก้าวร้าวโดยเจตนาและตั้งใจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือบาดเจ็บ นอกจากนี้ โรคทางด้านอารมณ์อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น เด็กมีอาการซึมเศร้า แม้ไม่แสดงว่าเศร้า, หดหู่ หรือเก็บตัว แต่อาจหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห และระบายอารมณ์อย่างรุนแรง
          การเลี้ยงดูของปกครองอาจมีส่วนทำให้เด็กก้าวร้าวได้ เช่น เลี้ยงดูที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว ผู้ใหญ่โต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้ง หรือทำร้ายร่างกายกันและเด็กเอาอย่าง หรือ ในเด็กที่ถูกทารุณกรรม ถูกทำร้ายร่างกาย หรือ ถูกลงโทษอย่างรุนแรง
          ปัญหาความก้าวร้าวในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้ในทุกช่วงอายุ เด็กที่ก้าวร้าวมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งแสดงพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้น เช่น ใช้อาวุธ หรือ รวมเป็นกลุ่มเป็นแก๊งกับเพื่อนก่อความรุนแรง การหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรกจึงมีความจำเป็นมาก เพราะช่วยลดความรุนแรงได้
          ดังนั้น ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจที่มาของปัญหาก่อน เพราะโดยทั่วไปความก้าวร้าวในเด็ก มักเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ควรประเมินเหตุปัจจัยรอบด้านว่า มีเหตุใดบ้างที่เกี่ยวข้อง การปรับการเลี้ยงดูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เช่น การที่ผู้ปกครองวางตัวอย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กก้าวร้าวนั้นไม่ช่วยให้ดีขึ้น แต่ผู้ปกครองควรใช้วิธีกอดหรือจับให้เด็กหยุด แล้วให้เด็กสงบอารมณ์

          หลังจากที่เด็กสงบแล้ว ควรพูดคุยกับเด็กถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่พอใจ เพื่อให้ได้โอกาสระบายออกเป็นคำพูด และ ผู้ปกครองได้โอกาสแสดงความเข้าใจ แม้จะไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนั้น


pageview  1206107    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved