HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 01/04/2556 ]
มาตรฐานอาหารเด็กที่ถูกสุขลักษณะ

  ด้วยเหตุที่ว่าเด็กอเมริกัน 1 คนในทุกๆ 3 คน มีน้ำหนักเกินพิกัด หรือไม่ก็เป็นโรคอ้วน ศูนย์วิทยาศาสตร์ในความสนใจของสาธารณะ (ซีเอสพีไอ) องค์กรรณรงค์เพื่อความเข้าใจของผู้บริโภค จึงออกสำรวจรายการอาหารที่จำหน่ายกันอยู่ในสหรัฐอเมริกา เพื่อเทียบเคียงกับมาตรฐานทางโภชนาการสำหรับเด็กแล้วรายงานกันออกมาทุกปี
          รายงานชิ้นล่าสุดของซีเอสพีไอเผยแพร่ออกมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เองพบว่า ในบรรดารายการอาหารสำหรับเด็กที่จำหน่ายกันอยู่ในเครือข่ายร้านอาหารทั่วประเทศที่นำมาวิเคราะห์ตรวจสอบกว่า 3,500 รายการ ผลิตโดยเครือข่ายภัตตาคาร ร้านอาหารชั้นนำของประเทศ 41 แห่งนั้น มีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเองที่สามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า เป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ส่วนที่เหลือไม่ถือ ว่าถูกสุขอนามัยสำหรับเด็กวัยที่กำลังเจริญเติบโต ไม่ด้วยสาเหตุใดก็สาเหตุหนึ่งหรือไม่ก็ด้วยหลายๆ สาเหตุประกอบกัน
          ซีเอสพีไอ ระบุว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของรายการอาหารสำหรับเด็กที่ตรวจสอบมีระดับแคลอรีเกินกว่า 600 แคลอรี ซึ่งต่อมื้อแล้วมากเกินไปสำหรับเด็กๆ อีก 78 เปอร์เซ็นต์ แถมเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ ดริงก์มาให้ด้วย เช่นเดียวกับที่มีมากถึง 73 เปอร์เซ็นต์ ที่มีเฟรนช์ฟรายส์เสิร์ฟมาพร้อมสรรพเป็นเครื่อง เคียง ตัวอย่างของมื้ออาหารสำหรับเด็กที่ไม่ถูก สุขลักษณะ ที่ซีเอสพีไอนำมาเผยแพร่นั้น มีอาทิ รายการ กริลด์ ชีส แซนด์วิช สำหรับเด็กของ เครือข่ายร้าน แอปเปิลบี ซึ่งเสิร์ฟพร้อมกับเฟรนช์ ฟรายส์และช็อกโกแลตมิลค์
          ซีเอสพีไอตรวจสอบแล้วพบว่าทั้งหมดให้แคลอรีรวมกันถึง 1,230 แคลอรี, มีไขมันอยู่ถึง 62 กรัม และมีโซเดียม หรือเกลือ อยู่ถึง 2,340 มิลลิกรัม ซึ่งมากกว่าระดับที่ซีเอสพีไอเสนอไว้เป็นมาตรฐานถึงเกือบ 3 เท่า
          อีกตัวอย่างเป็นของเครือข่ายร้านอาหารชิลี่ส์คือ เพพเพอโรนี่ พิซซ่า ที่เสิร์ฟพร้อมเฟรนช์ฟรายส์และซอฟต์ดริงก์ รวมแคลอรีแล้วสูงถึง 1,010 แคลอรี ไขมัน 45 กรัม และเกลืออีก 2,020 มิลลิกรัม
          ซีเอสพีไอกำหนดมาตรฐานเอาไว้ว่า อาหารเด็กที่ถูกสุขลักษณะนั้น ไม่ควรจะมีแคลอรีเกินกว่า 430 แคลอรี (โดยที่ในจำนวนนี้ต้องไม่มีแคลอรีจากไขมันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ และ จากไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์, มีน้ำตาลเพิ่มเข้าไปไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนัก และมีเกลือไม่เกิน 770 มิลลิกรัม)
          นอกจากนั้นยังจะต้องมีส่วนเสริมโภชนาการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งสามอย่าง คือ ครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เสิร์ฟต้องเป็นผักหรือผลไม้, หรือส่วนที่เป็นแป้งควรทำจากธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดขาว (โฮลเกรน) อย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์, หรือมีระดับวิตามินและไฟเบอร์อยู่ในระดับตามที่กำหนดไว้
          นอกจากซีเอสพีไอแล้ว ทางสมาคมภัตตาคารแห่งชาติ (เอ็นอาร์เอ) ของสหรัฐอเมริกาที่เป็นสมาคมตัวแทนอุตสาหกรรมอาหารทั้งประเทศ ก็กำหนดมาตรฐานมื้ออาหารสำหรับเด็กออกมาคล้ายๆ กัน เพียงแค่ยินยอมให้มีแคลอรีสูงกว่าอยู่บ้างเท่านั้นเอง
          แม้ว่าจะมีมาตรฐานกำหนด แต่ดูเหมือนว่าผู้ผลิตก็ยังผลิตอาหารตามความนิยมอยู่นั่นเอง ส่วนผู้ปกครองก็ซื้อหาอาหารตามความเคยชิน หรือไม่ก็ตามความต้องการของเด็กๆ โดยไม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ
          ซีเอสพีไอพบว่า เกินครึ่ง (51 เปอร์เซ็นต์) ของอาหารที่พ่อแม่ซื้อให้เด็กๆ ในสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าสูญเปล่า เด็กๆ ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
          ซึ่งน่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในเมืองไทยเช่นกัน


pageview  1205886    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved