HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/02/2555 ]
แนะคู่รักเลี่ยงแต่งในหมู่ญาติ สกัดลูกปากแหว่งเพดานโหว่
          เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับอาสาสมัครแพทย์ พยาบาลไทยและนานาชาติกว่า60 คน เปิดโครงการผ่าตัดแก้ไขความพิการในเด็กที่มีปัญหาปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการอื่นๆ ฟรี ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จ.นครนายก และที่โรงพยาบาลชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ระหว่างวันที่ 6-12 กุมภาพันธ์นี้
          นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 16 ล้านบาทเป้าหมายผ่าตัดเด็ก 200 ราย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 84 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 80 พรรษา ทั้งนี้ โรคปากแหว่ง (Cleft lip)เพดานโหว่ (Cleftpalate) เป็นความพิการของใบหน้าที่พบมากที่สุดปีละประมาณ1,000 คน ส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่มีฐานะยากจน จากการศึกษาในไทย พบเด็กปากแหว่ง ได้ 1 ใน 600 ของเด็กแรกเกิด ส่วนเพดานโหว่พบได้ 1 ใน 2,500 ของเด็กแรกเกิด พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาเหตุการเกิดเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ขาดสารอาหาร สูบบุหรี่ฯลฯ และมีโอกาสเกิดปัญหาซ้ำในครรภ์ถัดไปร้อยละ 3-5
          "เด็กที่ปากแหว่งเพดานโหว่จะมีปัญหาหลายด้าน ได้แก่ ดูดและกลืนนมและอาหารลำบาก ปอดติดเชื้อง่าย สำลักอาหารเข้าทางเดินหายใจ การรักษาให้ได้ผลดีต้องผ่าตัดเย็บปิดรอยแหว่งและช่องโหว่ตั้งแต่ยังเล็ก เด็กปากแหว่งควรได้รับการผ่าตัดเมื่ออายุ 3-6 เดือน ส่วนเด็กเพดานโหว่ควรผ่าตัดเมื่ออายุ 9 เดือน-1 ขวบครึ่ง หากได้รับการผ่าตัดช้าจะทำให้การฝึกพูดให้ชัดเจนเหมือนคนปกติเป็นไปได้ยาก" นพ.สุรวิทย์กล่าว และว่า ตั้งแต่ปี2550-2554 ได้ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยประเภทนี้แล้ว 6,901 ราย
          นพ.สุรวิทย์กล่าวว่า โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยก่อนตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ที่มีประวัติครอบครัว มีพ่อหรือแม่ พี่ น้องหรือญาติฝ่ายพ่อ ฝ่ายแม่ที่มีปากแหว่งเพดานโหว่ และควรหลีกเลี่ยงการแต่งงานในเครือญาติ นอกจากนี้ มีผลการศึกษาวิจัยในหลายประเทศพบว่า กรดโฟลิค หรือโฟเลท ซึ่งเป็นวิตามินชนิดหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ หากระดับโฟเลทต่ำ จะเสี่ยงต่อการเกิดความพิการแต่กำเนิดเช่น ภาวะหลอดประสาทพิการและปากแหว่งเพดานโหว่ ดังนั้น ในการป้องกันเด็กปากแหว่งเพดานโหว่จึงแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์กินกรดโฟลิคเพิ่ม เริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน และช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ เนื่องจากกรดโฟลิคจะมีมากในผัก-ผลไม้สด เช่น มะเขือเทศ ผักตระกูลกะหล่ำ แตงกวา แครอตถั่วฝักยาวถั่วเหลือง ถั่วเขียว ส้ม องุ่น

pageview  1205088    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved